ดื่มแบบมีสติ
แม้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย แต่เราไม่เคยรู้เลยว่า ควรดื่มสุรา...ปริมาณแค่ไหน ถึงจะไม่เกิดโทษต่อร่างกาย และผู้ป่วยโรคใด ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ลองมาทำความเข้าใจเรื่องนี้ จากมุมมองนักวิชาการ
"สำหรับคนไทย คนจีนและคนเอเชีย มักจะมีเอนไซม์พร่องไปบางอย่าง ทำให้ร่างกาย metabolize (ย่อยสลาย) แอลกอฮอล์ไม่ได้ ผลคือพิษคั่งในร่างกาย จะเกิดอาการร้อนวูบวาบ บางคนหน้าแดงขึ้นมา ซึ่งนี่เป็นปัจจัยป้องกันตัวเอง ให้คนคนนั้นดื่มไม่ได้ เป็นสัญญาณเตือนระวังการดื่มไปด้วย"
การดื่มบางครั้งเริ่มต้นด้วยการดื่มเพื่อเข้าสังคม ดื่มพอเป็นกระสาย แต่เมื่อใดที่มีลักษณะไม่สามารถหยุดดื่มได้ มีการดื่มได้มากขึ้นเรื่อยๆ หรือทางการแพทย์เรียกว่า tolerance หมายถึงการทนทานและรับสารแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากขึ้น ก่อนที่ร่างกายจะแสดงอาการผิดปกติ ศ.นพ.มานิตย์ ศรีสุรภานนท์ ภาควิชาจิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้แนะในวงสัมมนาหัวข้อ การบำบัดรักษาผู้ดื่มสุราในประเทศไทยว่า การดื่มจะเป็นภัยต่อตัวเอง เพราะในปลายทางที่สุดแล้วจะเดินสู่ภาวะ 'เสพติด' หรือเป็นโรคสุราเรื้อรังได้
พ.ญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยากรในวงสัมมนา กล่าวถึงปัจจัยที่มีผลผลักดันให้บุคคลเริ่มดื่ม จนกระทั่งดื่มแล้วเกิดปัญหา หรืออยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพนั้น โดยทั่วไปจะคล้ายกัน ทั้งทางสภาพร่างกาย จิตวิทยาสังคม แต่ในปัจจัยที่ทำให้การดื่มดำเนินต่อเนื่องและเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้นนั้น เธอระบุว่า ส่วนใหญ่มาจากเรื่องสังคม การยอมรับว่าการดื่มไม่เป็นปัญหาในกลุ่มสังกัด และปัจจัยเสริมอย่างอิทธิพลของโฆษณา โดยมี 'ตัวสาร' ที่เป็นสารเสพติดเป็นตัวนำอยู่แล้ว
"ในทางเภสัชวิทยา แอลกอฮอล์มีผลต่อประสาท มันกระตุ้นการหลั่งสารที่ทำให้เรารู้สึกดี เมื่อสามอย่างคือ ตัวคน ตัวสาร และสิ่งแวดล้อมเสริมกัน ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้คนดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่ภาวะเสพติดหรือไม่เสพติดแตกต่างกัน"
ดาบสองคม เพิ่ม-ลด ความเสี่ยง
พ.ญ.สาวิตรี กล่าวว่า การศึกษาทางระบาดวิทยาและการทบทวนวิจัย พบว่าการดื่มเพียงเล็กน้อยอาจมีประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถช่วย 'ลด' ความเครียด ผ่อนคลาย และลดความเสี่ยงของสโตรคส์ ที่เกิดจากหลอดเลือดอุดตัน แต่อย่างไรก็ตาม การดื่มจะ 'เพิ่ม' ความเสี่ยงของการเกิดสโตรคส์ (ภาวะวูบหมดสติเฉียบพลัน) เนื่องจากเส้นเลือดแตก
ในกรณีผู้ใช้ยา ประเภท ยาแก้ปวด ยากล่อมประสาท ยากันชัก และยาต้านเศร้า ฯลฯ แอลกอฮอล์จะมีปฏิกิริยากับยาเหล่านี้ การดื่มเพียงเล็กน้อยก็มีผลเสียต่อร่างกายได้
นอกจากนั้น พันธุกรรมของคนก็มีผลสัมพันธ์ กับการทำปฏิกิริยาแอลกอฮอล์ของร่างกาย พ.ญ.สาวิตรี ชี้แนะว่า "สำหรับคนไทย คนจีนและคนเอเชีย มักจะมีเอนไซม์พร่องในบางอย่าง ทำให้ร่างกาย metabolize (ย่อยสลาย) แอลกอฮอล์ไม่ได้ ผลคือพิษคั่งในร่างกาย จะเกิดอาการร้อนวูบวาบ บางคนหน้าแดงขึ้นมา ซึ่งนี่เป็นปัจจัยป้องกันตัวเอง ให้คนคนนั้นดื่มไม่ได้ เป็นสัญญาณเตือนระวังการดื่มไปด้วย"
ค่านิยมสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทางการแพทย์และจิตเวชเชื่อว่า มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงความเชื่อว่า การดื่มจะทำให้ 'ลืม' ความทุกข์ เวลาเศร้า หรืออกหัก ซึ่ง พ.ญ.สาวิตรี อธิบายว่า แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาท ทำให้การสื่อนำประสาททำงานมากขึ้น ไปลดความยับยั้งชั่งใจ แอลกอฮอล์ไปกระตุ้นให้สารนี้ในร่างกายทำงานได้มากขึ้น ทำให้เรารู้สึกเหมือน calm down (ผ่อนคลาย) ปลดปล่อย แต่มันจะเกิดเฉพาะตอนมึนเมา เมื่อเราสร่างเมาแล้วปัญหาก็ยังเหมือนเดิม"
ขณะเดียวกัน ผลร้ายดูจะมีมากกว่าผลดี พ.ญ.สาวิตรี อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 'โรค' กับการดื่มแอลกอฮอล์ว่า "ทางจิตเวช ปัญหาทางจิตวิทยาภาวะพึ่งพิงของคนดื่มกับการดื่ม จะมีสาเหตุปัจจัยร่วมกัน นั่นคือ ข้อแรก คนที่อ่อนแอจะติดเหล้า และจิตอ่อนแอมีโอกาสเป็นโรคทางจิตเวชง่าย ข้อสอง เพราะความป่วยทางจิตเวช (เช่น เศร้า เครียด ฯลฯ) จึงหันไปดื่มเหล้า และข้อสาม การดื่มจะไปทำลายสมอง ทำให้มีปัญหาด้านสารเคมีในร่างกาย และเกิดโรคทางจิตเวชตามมา"
ดื่มไม่มีปัญหา ?
ศ.นพ.มานิตย์ ยังได้อธิบายถึงการดื่มแอลกอฮอล์ที่อยู่ในข่ายมีปัญหา หรือ alcohol abuse ว่า การดื่มมีปัญหา นี่คือ ยังไม่ถึงขั้นเป็นผู้ป่วยติดเหล้า แต่ดื่มแล้วก่อให้เกิดปัญหา เช่น เมาแล้วขับรถไม่ได้ มีเรื่องทะเลาะวิวาท และส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองดื่มแล้วไม่มีปัญหาด้วย เป็นต้น"
และได้แนะทางออกสำหรับการ 'ระวัง' ภัยใกล้ตัวด้วยตัวเอง เป็นคติประจำใจนักดื่มว่า
"บันทึก ตรึกตรอง มองเป้า เหล้าช้า อย่าท้องว่าง ห่างกระตุ้น และครุ่นคิดแผน" อันเป็นคติที่ขยายความเป็นภาคปฏิบัติได้ว่า เมื่อเริ่มต้นดื่มแล้ว ผู้ดื่มควรจะจดบันทึกไว้บ้างว่า ดื่มไปเท่าไร และมีการคำนวณหรือตรึกตรองว่า เรารับแอลกอฮอล์ไปกี่ดริ๊งค์ (ดูการวัดค่าดริ๊งค์มาตรฐานในช่วงท้าย) การดื่มครั้งต่อไปควรตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณ และดื่มให้ช้าลง และควรจะหาเครื่องดื่มปลอดแอลกอฮอล์ พวกซอฟต์ดริ๊งค์ น้ำผลไม้ น้ำเปล่า อะไรต่างๆ มาดื่มสลับบ้าง และอย่าปล่อยให้ท้องว่าง เพื่อลดการดูดซึมแอลกอฮอล์ และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเร้า สิ่งกระตุ้นต่างๆ และวางแผนชีวิตให้ดี" น.พ.มานิตย์ แนะนำระหว่างการบรรยายเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสุราเรื้อรัง
ทางการแพทย์ แอลกอฮอล์เป็นสาร 'กดประสาท' หากมีการดื่มติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะผู้เสพติดเรื้อรัง การหยุดดื่มในทันที ก็จะมีผลเสียเช่นกัน นั่นคือ ทำให้เกิดการกระตุ้นระบบประสาท รวมถึงการทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ สับสนและประสาทหลอน การรักษาผู้เสพติดให้ห่างจากแอลกอฮอล์ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเหมาะสม
พอ.นพ.วิชัย แสงชาญชัย วิทยากรร่วมในวงสัมมนา ได้เสริมด้วยว่า ปัจจุบันปัญหาที่พบในประเทศไทย จะมีผู้เป็นโรคสุราเรื้อรังร่วมกับโรคทางจิตเวช เช่น อาการสมาธิสั้น บุคลิกต่อต้านสังคม การเสพติดมากกว่าหนึ่งอย่าง นอกจากติดสุราแล้วยังอาจเสพติดสารเสพติดอื่นๆ หรือเสพติดสิ่งที่ไม่ใช่สาร เช่น เสพติดเซ็กซ์ ติดพนัน เป็นต้น จึงต้องมีการรักษาควบคู่กัน ไม่สามารถแยกเฉพาะเชิงกายภาพอย่างเดียวได้
ดื่มแค่ไหนไม่เป็นภัย
พ.ญ.สาวิตรี กล่าวว่า การดื่มในระดับที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ช่วยป้องกันการแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ฯลฯ แต่คุณประโยชน์เหล่านี้ เราต้องหันกลับมามองว่า สำหรับคนไทย เราไม่ได้มีอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือหลอดเลือดสูงเท่าคนตะวันตก ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหล่านี้ของเราต่ำกว่าตะวันตก เนื่องจากเหตุผลทางสรีระและอาหารการกิน แต่ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ จะไม่มีคำว่าดื่มอย่างปลอดภัย
"ถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว ไม่ควรดื่มเลย จะดีที่สุด เพราะในบ้านเรา ปัญหาที่เกิดจากการดื่มที่มากกว่าอย่างอื่นๆ ไม่ใช่การตายด้วยโรคที่เกิดจากพิษสุรา แต่เป็นการตายเฉียบพลันจากอุบัติเหตุ รวมทั้งการบาดเจ็บรุนแรง อันมีสาเหตุจากการดื่มสุรามากกว่า แม้ดื่มเพียงนิดเดียวก็มีผลต่อพฤติกรรมของเราไม่เป็นปกติได้ การควบคุมก็ลำบาก มันก็จะส่งผลร้ายในขั้นต่อไป"
พ.ญ.สาวิตรี แนะนำการคำนวณปริมาณ 'ดริ๊งค์ (drink)' มาตรฐาน ซึ่งในระยะยาวอาจต้องการการผลักดันให้เป็นกฎหมาย เพื่อผู้ดื่มจะสามารถคำนวณปริมาณการดื่มที่จะแค่โดน 'ทำร้าย'..หรืออาจถึงขั้นโดน 'ทำลาย' ชีวิต
"ในออสเตรเลีย เขากำหนดให้สถานบริการเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสิร์ฟเป็นดริ๊งค์มาตรฐาน เพราะฉะนั้นผู้ป่วยจะสามารถบอกหมอได้ว่า ตัวเองได้ดื่มไปกี่ดริ๊งค์ในแต่ละวัน ขณะที่ประเทศไทย จะไม่ได้เสิร์ฟเป็นดริ๊งค์มาตรฐาน ดังนั้นบางทีผู้ป่วยมาหาหมอ และเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง (screening) ที่ต้องบอกหมอว่า เขามีปริมาณการดื่มกี่ดริ๊งค์ จะไม่สามารถตอบได้ และไม่เป็นผลในทางคลินิก" น.พ.มานิตย์ กล่าวในงานสัมมนา และชี้ว่า การวัดค่าสแตนดาร์ดดริ๊งค์ หรือ 'ค่าดื่มมาตรฐาน' มีความจำเป็นต่อการค้นหาผู้ป่วยว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายดื่มหนักหรือไม่ เพื่อประกอบในการวินิจฉัยโรค
"บางคนมาหาหมอด้วยโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น อาจไม่ใช่โรคสุราเรื้อรัง แต่พฤติกรรมการดื่มมีผลต่อการเกิดโรคเช่นกัน"
..................................................
ดริ๊งค์มาตรฐาน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว พ.ญ.สาวิตรีจึงได้พัฒนา Thai Drink Guide เป็นเอกสารเปรียบเทียบ ปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ ในไทย เทียบปริมาณเอทานอลแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยในการสำรวจพฤติกรรม การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตามค่าดริ๊งค์มาตรฐาน สามารถแจกแจงได้คร่าวๆ ดังนี้
ปริมาณแอลกอฮอล์ (เปอร์เซ็นต์) ในเครื่องดื่มแต่ละประเภทมีดังนี้
-น้ำผลไม้ผสมแอลกอฮอล์ 5-7 เปอร์เซ็นต์
-ไวน์ 12 เปอร์เซ็นต์
-เบียร์ 3.5-7 เปอร์เซ็นต์
-เหล้าแดง 35-40 เปอร์เซ็นต์
-เหล้าขาว 28-40 เปอร์เซ็นต์
-สาโท สุราแช่ สุราพื้นเมือง 6-7 เปอร์เซ็นต์
-น้ำขาว อุ กะแช่ 10 เปอร์เซ็นต์
หมายเหตุ : ขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อ ควรสังเกตจากฉลาก
การคำนวณเพื่อหาค่าหนึ่งดริ๊งค์มาตรฐาน
ปริมาณแอลกอฮอล์หนึ่งหน่วยมาตรฐาน หรือ '1 สแตนดาร์ด ดริ๊งค์' มีแอลกอฮอล์ (เอทานอล) 10-12 gm ethanol ค่ามาตรฐานปริมาณแอลกอฮอล์ 1 มิลลิลิตรเอทานอล เท่ากับ 0.79 กรัม
-เบียร์ มีแอลกอฮอล์ 4-5 เปอร์เซ็นต์ ขนาด 1 กระป๋อง (330 มิลลิลิตร) มีปริมาณเอทานอลเท่ากับ 10.4 กรัม
-เหล้า มีแอลกอฮอล์ 40 เปอร์เซ็นต์ ขนาด 1 เป๊ก (50 มิลลิลิตร) มีปริมาณเอทานอลเท่ากับ 15.8 กรัม
-เหล้าปั่น (เหล้าผสมน้ำหวานกลิ่นผลไม้ปั่นกับน้ำแข็ง) 1 แก้ว เท่ากับ 3 ชอต ปริมาณ 45 มิลลิลิตร ปริมาณเอทานอล เท่ากับ 1.4 g หนึ่งเหยือก เท่ากับ 6 ชอต ปริมาณเอทานอล 2.844 g
-ไวน์ 1 แก้ว เท่ากับ 100 มิลลิลิตร ปริมาณเอทานอล 3.16 g
-เหล้าแดง (วิสกี้) 1 ชอต เท่ากับ 15 มิลลิลิตร ปริมาณเอทานอล 0.47 กรัม
ระดับความเสี่ยงของการดื่มแอลกอฮอล์
เพศชาย
เสี่ยงต่ำ ปริมาณแอลกอฮอล์ 1-40 g
เสี่ยงปานกลาง 41-60 g
เสี่ยงสูง 61-100 g
เสี่ยงสูงมาก 101 g ขึ้นไป
เพศหญิง
เสี่ยงต่ำ ปริมาณแอลกอฮอล์ 1-20 g
เสี่ยงปานกลาง 21-40 g
เสี่ยงสูง 41-60 g
เสี่ยงสูงมาก 61 g ขึ้นไป
self-limit drinking (การดื่มอย่างปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงน้อย ในหนึ่งวัน)
เพศชาย ไม่เกิน 4 ดื่มมาตรฐาน
เพศหญิง ไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐาน (เบียร์ไม่เกิน 2 กระป๋อง)
ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 1 ดื่มมาตรฐาน (แอลกอฮอล์ 10 กรัม เฉลี่ยไม่เกินเบียร์หนึ่งกระป๋อง)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดต่อ kthaikla@gmail.com
Brandon Kelley
Neque porro qui squam est, qui dolorem ipsum quia dolor sit amet, consectetur, adipisci velit, sed quia non numquam eius modi tempora.
Like Reply