อาหารเสริมในเด็ก
อาหารเสริมสำหรับเด็กนั้น เราจะเริ่มให้ตามความสามารถ ของระบบทางเดินอาหาร ในระยะวัย 3-4 เดือน ตับอ่อนของทารก จะเริ่มหลั่งสารน้ำย่อยอะมิเลส ทารกระยะนี้จึงมีความสามารถที่จะย่อยแป้งได้ดี
อาหารเสริมสำหรับเด็กนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็ก ได้รู้รสชาติหลากชนิดและลักษณะของอาหารที่นุ่มและขนาดแตกต่างกัน เพื่อให้เกิดพัฒนาขึ้นมาในการที่จะกินอาหารอื่น หลังวัยหย่านม การพัฒนาและการเรียนรู้ การกินอาหารเสริมนี้มีความสำคัญมาก เด็กจำนวนไม่น้อยมีปัญหาเรื่องการไม่ยอมกินอาหารธรรมดา เนื่องจากขาดการพัฒนาการกินอาหารในวัยนี้
โดยความเป็นจริงแล้ว ทารกสามารถกลืนได้ตั้งแต่ อยู่ในครรภ์มารดา เมื่อมีอายุครรภ์ได้ 11 สัปดาห์ และจะเริ่มดูดได้ ตั้งแต่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ในทารกแรกเกิดเมื่อป้อนอาหารทารก จะใช้ลิ้นดุนอาหารออกมาโดยอัตโนมัติ เมื่ออายุได้ 4-6 เดือน ทารกจึงเริ่มรู้จักใช้ลิ้นตวัดอาหารและกลืนลงไป พออายุได้ 7-9 เดือน จะเริ่มกัดและเคี้ยวทั้งที่บางรายฟันยังไม่ขึ้น มีผู้บอกว่าช่วงนี้ เป็นช่วงวิกฤตที่ทารกจำเป็นจะต้องได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม ในการป้อนอาหารแข็ง เพื่อให้ทารกได้เรียนรู้ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหา ในการให้อาหารแข็งในอนาคต โดยทารกอาจจะปฏิเสธอาหารแข็ง และเกิดอาการอาเจียนเมื่อถูกป้อนด้วยอาหารแข็ง
1. การให้อาหารเสริมทารกก็เพื่อ ให้อาหารเสริมเพิ่มเติมจากนม แม่ ทำให้ทารกได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ และมีการเจริญเติบโตสมวัย
2. เพื่อเสริมสร้างนิสัยการกินของทารกดังที่กล่าวมาแล้ว ทารกมี พฤติกรรมการกินตั้งแต่แรกเกิด และเปลี่ยนแปลงไปตามวัย การฝึกให้เด็กได้รับอาหารเสริมอย่างเหมาะสม จะช่วยให้เด็กมีพฤติกรรม การกินที่ดีต่อไป ตัวอย่างเช่น การฝึกให้ทารกได้อาหารแข็งเร็วหรือช้าเกินไ ก่อนวัยอันสมควร อาจมีผลทำให้เด็กไม่ยอมรับ และปฏิเสธอาหารนั้นได้
3. เพื่อเสริมการพัฒนาระบบการกิน ย่อย และดูดซึมอาหาร ตลอดจนพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่น ฝึกให้เด็กช่วยตนเองในการกินอาหาร จะทำให้เด็กมีพัฒนาการกินที่ดีในอนาคต
เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า นมแม่เป็นอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุด สำหรับทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 6 เดือนแรก ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโภชนาการจึงแนะนำว่า ไม่ควรให้อาหารเสริมแก่ทารกก่อนอายุ 5 เดือน แต่จากการศึกษาในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย พบว่าเด็กทารก ได้รับอาหารเสริมเร็วกว่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทไทย มารดาบางรายป้อนข้าวหรือกล้วยให้ลูกตั้งแต่อายุ 2-3 วัน เนื่องจาก มีความเข้าใจผิดคิดว่า การให้อาหารเสริมแก่ลูกเร็วจะมีผลดี
ผลเสียของการให้อาหารเสริมแก่ทารกก่อนวัยอันควร
การให้อาหารเสริมเร็วเกินไปอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทารกได้ เนื่องจากอาหารที่มีอยู่ในอาหารเสริมนั้นไม่เหมาะสมกับทารก หรือไม่เพียงพอแก่ความต้องการของทารกดังเหตุผลต่อไปนี้
โปรตีน
ปริมาณและคุณภาพของโปรตีนนั้น แปรเปลี่ยนไป ตามประเภทของอาหารเสริม ธัญพืชจะมีโปรตีนร้อยละ 0.9-8.1 กรัม ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่นำมาใช้เป็นส่วนผสม และวิธีการผสมอาหารว่า ชงข้นหรือใส อาหารเสริมธัญพืชที่ประกอบด้วยข้าวสาลี ข้าวโอ๊ตจะมีโปรตีน มากกว่าอาหารเสริมที่ทำจากข้าวถึง 5 เท่า เนื้อและไข่จะเป็นแหล่งอาหาร ที่ให้โปรตีนสูงถึงร้อยละ 20 ของพลังงานที่ได้รับ แต่อาหารประเภทผลไม้ และของหวานส่วนใหญ่จะให้โปรตีนน้อยกว่าร้อยละ 7 ของพลังงานที่ได้รับ ผลไม้จึงให้อัตราส่วนของโปรตีนต่อพลังงานต่ำ เด็กจึงไม่ควรรับประทาน ผลไม้มากเกินกว่าร้อยละ 20 ของพลังงานที่ได้รับทั้งวัน
ในทำนองเดียวกัน โปรตีนที่ได้จากพืชผักและธัญพืช จะมีคุณค่าทางโภชนาการด้อยกว่าโปรตีนจากเนื้อ นม ไข่ การให้พืชผักมากเกินไปอาจมีผลกระทบต่อปริมาณโปรตีนที่ทารกจะได้รับ
นอกจากต้องคำนึงถึงปริมาณและคุณภาพของโปรตีน ที่จะให้ทารกแล้ว ยังต้องคำนึงถึง ขนาดของโปรตีนด้วย เนื่องจาก ในทารกที่อายุน้อยลำไส้ยังพัฒนาไม่เต็มที่ สามารถดูดซึม เอาโปรตีนที่มีโมเลกุลใหญ่เข้าไป แล้วกระตุ้นทำให้เกิด ภูมิแพ้ต่อโปรตีนนั้นได้ เมื่อรับประทานโปรตีนนั้นเข้าไปอีกในภายหลัง
คาร์โบไฮเดรต
คาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในอาหารเสริมนั้นส่วนใหญ่คือ แป้ง ดังที่กล่าวมาแล้ว ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 3 เดือน อาจมีความจำกัด ในการย่อยอาหารแป้ง ดังนั้นการให้อาหารเสริมก่อนวัยอันควร อาจก่อให้เกิดผลเสีย เนื่องจากการไม่ย่อยทำให้ทารกเป็นโรคขาดอาหาร ท้องร่วง และการดูดซึมอาหารบกพร่อง นอกจากนี้แป้งในอาหารเสริม ระดับอุตสาหกรรม บางชนิดถูกดัดแปลง เพื่อมิให้เกิดความข้น ขุ่น เหนียว เพื่อให้ทารกรับประทานได้ง่าย และยอมรับอาหารเสริมชนิดนั้น แต่ขบวนการดัดแปลงทางอุตสาหกรรม อาจทำให้มีสารเคมีที่เป็นอันตราย ตกค้างอยู่ในอาหารเสริม และแป้งที่ถูกดัดแปลงไปนั้นอาจมีปฏิกิริยากับเกลือแร่ ทำให้ลำไส้ของทารกดูดซึมเกลือแร่ได้น้อยลง
ไขมัน
ทารกแรกเกิดจะมีเอนไซม์ที่ย่อยไขมันต่ำ ทำให้ทารก ดูดซึมไขมันได้ไม่ดีนัก ดังนั้นการให้อาหารเสริมที่มีไขมันมาก หรือน้อยเกินไปอาจก่อให้เกิดปัญหา เช่น ถ้าให้อาหารเสริม มากเกินไปจะเกิดอาการถ่ายเป็นไขมันได้
ผลเสียอื่น ๆ
- ในทารกที่ยังไม่สามารถชันคอได้ และระบบการกลืนอาจยัง ทำงานไม่สัมพันธ์กันดี ทำให้มีโอกาสสำลักเอาอาหารเสริม ที่ไม่ได้บดละเอียดเข้าไปในหลอดลมได้
- ถ้าหากอาหารเสริมที่ให้พลังงานสูง อาจทำให้ทารกมีโอกาส เป็นโรคอ้วนสูง เนื่องจากทารกที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในระยะแรก จะเนื่องมาจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์ไขมัน ทำให้ทารก มีจำนวนไขมันมาก ก็จะมีโอกาสอ้วนง่ายขึ้นในอนาคต
- การกินอาหารเสริมจะทำให้ทารกอิ่มนาน มีช่วงห่างระหว่าง มื้ออาหารนานขึ้น อาจมีผลทำให้เกิดการปรับตัวทำให้ไขมันในเลือดสูงขึ้น
- อาหารเสริมบางชนิดเติมเกลือลงไปเพื่อปรุงรส อาจมีผลส่ง เสริมให้ทารกนั้นมีแนวโน้มเป็นโรคความดันโลหิตสูง
- อาหารเสริมที่มีน้ำตาลปรุงรสหวาน อาจมีผลกระทบต่อนิสัย การบริโภคของทารก ทำให้ทารกติดการรับประทานอาหารรสหวาน และมีโอกาสฟังผุได้ง่าย
- ทารกอาจย่อยและดูดซึมสารอาหารบางชนิดที่มีอยู่ใน อาหารเสริมไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาโรคท้องร่วงและ ภาวะการดูดซึมบกพร่องได้
- อาหารเสริมบางชนิดอาจมีคุณค่าทางโภชนาการไม่ครบถ้วน ทำให้ไตทำงานหนัก
ประเภทของอาหารเสริมสำหรับทารก
แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. อาหารเสริมระดับครอบครัว
2. อาหารเสริมระดับชุมชน
3. อาหารเสริมระดับอุตสาหกรรม
อาหารเสริมสำหรับครอบครัว
เป็นอาหารเสริมพื้นฐานที่สำคัญมาก เนื่องจากพ่อแม่ สามารถเตรียมขึ้นได้เอง โดยใช้อาหารที่มีอยู่ในครัวมาปรุงให้เหมาะสม กับความต้องการของทารก ทำให้ทารกได้รับอาหารที่สดปราศจากสารกันเสีย เราควรให้อาหารเสริมทารกดังนี้
อายุ (เดือน) | อาหารเสริม |
---|---|
3 | ข้าวบดใส่แกงจืด สลับกับกล้วยสุกครูด |
4 | ข้าวบดกับไข่แดงต้มสุกข้าวบดกับตับ หรือข้าวบดกับถั่วต้มเปื่อย |
5 | ปลา ฟักทองหรือผักใบเขียวบด เช่น ตำลึง ผักบุ้ง |
6 | อาหารแทนนม 1 มื้อ ให้ผลไม้ เช่น กล้วย หรือมะละกอสุกเป็นอาหารว่างอีก 1 มื้อ |
7 | เริ่มให้เนื้อสัตว์บดและให้ไข่ทั้งฟองได้ |
8-9 | อาหารแทนนม 2 มื้อ |
10-12 | อาหารแทนนม 3 มื้อ |
อาหารเสริมระดับชุมชน
อาหารเสริมอุตสาหกรรม
เป็นอาหารเสริมที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่พ่อแม่ ที่ไม่มีเวลาในการเตรียมอาหารให้ลูก แต่มีข้อเสียคือ ราคาแพง อาหารไม่สด และอาจมีสารกันเสีย นอกจากนี้อาหารเสริมบางชนิดมีรสหวาน ทำให้ทารกติดอาหารรสหวาน และปฏิเสธอาหารที่ไม่หวาน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อนิสัยการรับประทานของทารกต่อไปในอนาคต และอาจทำให้ทารกที่ปฏิเสธอาหารเป็นโรคขาดอาหารได้
สรุป
อาหารเสริมคือ อาหารอื่นๆ ทุกชนิดนอกเหนือไปจากนมแม่ ควรให้ทารกเมื่อมีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป เพื่อให้สารอาหารอื่นๆ เสริมนมแม่ เพื่อฝึกนิสัยการกิน และเพื่อเสริมการพัฒนาระบบการกิน ย่อยและดูดซึมอาหาร ตลอดจนพัฒนาการด้านอื่นๆ ของทารกให้เหมาะสม การให้อาหารเสริมทารกอย่างถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้ทารกเจริญเติบโต และพัฒนาการสมวัย แต่การให้อาหารเสริมก่อนวัยอันควร อาจก่อให้เกิดผลเสียได้มากมาย หลักเกณฑ์การเลือกใช้ ประเภทของอาหารเสริม ควรต้องพิจารณาส่วนประกอบคุณค่าทางโภชนาการ ให้เหมาะสมกับความต้องการการทำงานของระบบทางเดินอาหารของทารก ว่าสามารถดูดซึมอาหารนั้นได้ดีเพียงใด
อาหารเสริมระดับครอบครัวเป็นอาหารเสริมที่ดี เนื่องจาก เตรียมง่าย สะดวก ประหยัด และไม่มีสารกันเสีย
อาหารเสริมอุตสาหกรรมเหมาะสมสำหรับพ่อแม่ที่มีเวลาน้อย แต่มีข้อเสียคือ ราคาแพง อาหารไม่สด และบางชนิดอาจมีสารกันเสีย