น้ำมันพืช...ทำไมไม่เป็นไขเมื่อ แช่เย็น
น้ำมันที่เราใช้ประกอบอาหารนั้นมีทั้งน้ำมันที่ได้จากพืช และสัตว์ ซึ่งเดิมเรานิยมใช้น้ำมันจากสัตว์ในการประกอบอาหาร เพราะให้กลิ่นรสดีกว่า แต่ต่อมาเมื่อน้ำมันพืชผลิตได้ง่ายขึ้น ราคาไม่แพง ประกอบเข้ากับการทำตลาดที่หวือหวา และกระบวนการที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องโคเลสเตอรอล ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จึงหันไปนิยมบริโภคน้ำมันพืชกันมากขึ้น
โคเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่ง มีอยู่ในอาหารจพวกเนื้อสัตว์และร่างกายของเราก็ผลิตได้ส่วนหนึ่ง หน้าที่ของโคเลสเตอรอลในร่างกายคือการสร้างเซลล์ใหม่และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เป็นตัวสำคัญในการสร้างฮอร์โมนเพศและวิตามินดี อย่างไรก็ตามการบริโภคอาหารที่มีโคเลสเตอรอลมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโคเลสเตอรอลเป็นของไม่ดี ร่างกายยังจำเป็นต้องมีโคเลสเตอรอลในปริมาณที่เหมาะสม การที่คนเรามีความรู้ครึ่งๆ กลางๆ เรื่องของโคเลสเตอรอล จึงกลายมาเป็นจุดขายของผู้ผลิตน้ำมันพืช โดยออกโฆษณาที่เน้นว่า น้ำมันพืชไม่มีโคเลสเตอรอล จึงส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่าน้ำมันจากไขมันสัตว์ และยังสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องให้กับเราอีกว่า น้ำมันพืชที่ไม่มีโคเลสเตอรอลคือน้ำมันที่แช่เย็นแล้วไม่เป็นไข ทำไมน้ำมันพืชบางชนิดเมื่อแช่ในตู้เย็นแล้วอาจเกิดไขขึ้นได้ บางชนิดก็ไม่เป็นไป แล้วความเป็นไขเกี่ยวกับการมีโคเลสเตอรอลอย่างไร
เหตุที่น้ำมันพืช เป็นไขหรือไม่เป็นไข
หากเป็นน้ำมันพืชชนิดที่สกัดมาจาก ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน ดอกคำฝอย ข้าวโพด ฝ้าย จะเป็นน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนสูง เจ้ากรดไขมันนี้เมื่ออยู่ในอุณหภูมิต่ำ ๆ จะไม่เป็นไข แต่ในขณะเดียวกันน้ำมันพืชจากปาล์มโอเลอิน มะพร้าว จะมีเจ้ากรดไขมันเชิงซ้อนนี้ต่ำ เมื่อไปอยู่ในอุณหภูมิต่ำ ๆ เช่นในตู้เย็น ก็จับตัวเป็นไขได้ง่าย เช่นเดียวกันกับน้ำมันหมูซึ่งมีกรดไขมันเชิงซ้อนต่ำเช่นกัน แต่น้ำมันพืช ไม่ว่าพืชใดก็ไม่มีโคเลสเตอรอล เนื่องจากพืชไม่สามารถสร้างขึ้นได้ ดังนั้น การเป็นไข ไม่เป็นไขในตู้เย็นจึงไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ได้บอกว่าอะไรมีโคเลสเตอรอลหรือไม่มีโคเลสเตอรอล เราจึงไม่ควรถูกมายาภาพของโฆษณาหลอกลวงเอา
วิธีการเลือกซื้อน้ำมันพืชอย่างถูกวิธี
1. น้ำมันพืชที่ดีต้องไม่ใสเกินไป เช่น น้ำมันปาล์มปกติก็ต้องมีสีเข้มบ้างเพราะนั่นคือมีสารเบต้าแคโรทีนที่มีประโยชน์ในการป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันโรคหัวใจ (น้ำมันพืชที่ใสนั้นผ่านการฟอกสีจนหมดคุณค่าทางอาหารไปหลายตัว)
2. น้ำมันพืชที่มีราคาแพงไม่ใช่ว่ามีคุณภาพหรือดีกว่าน้ำมันพืชราคาถูกเพราะฉะนั้นอย่าวัดคุณภาพด้วยราคา
3. ดูที่ก้นขวดต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น ผงสีดำหรือตะกอนขุ่นขาว เพราะหมายถึงการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน
4. ดูว่ามีฉลากครบถ้วนหรือไม่ บอกวัตถุดิบที่นำมาผลิตว่าเป็นพืชชนิดไหน ถั่วเหลือง ข้าวโพด หรือว่าปาล์ม สถานที่ผลิตด้วยเผื่อมีปัญหาจะได้ตามตัวผู้ผลิตถูก
5. อาหารประเภทผัดควรใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนสูง แต่อาหารทอดควรใช้น้ำมันพืชหรือน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนต่ำ เพราะการทอดใช้ไฟแรงและระยะเวลานาน น้ำมันชนิดหลังมีคุณสมบัติที่ดีกว่าชนิดแรก