อาหารวัยทารก
การที่ ทารกและเด็กวัยเรียน จะมีภาวะโภชนาการที่สมบูรณ์ได้นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการดูแลด้านโภชนาการ และสุขภาพอนามัย ซึ่งหมายถึงทารกจะต้องได้อาหารที่ถูกต้องและเหมาะสม และเพียงพอต่อการเจริญเติบโต รวมถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ตลอดจนเฝ้าระวังสุขภาพอนามัยอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอเพราะ วัยทารก เป็นระยะแรกของชีวิตที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าทุกกลุ่มอายุ ทั้งทางด้านร่างกายและสมอง โดยทั่วไปน้ำหนักเด็กอายุ 5 เดือนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของน้ำหนักแรกคลอด หรือเพิ่มประมาณ 3 กิโลกรัม และจะเพิ่มเป็น 3 เท่า เมื่ออายุครบ 1 ปี หรือประมาณ 6 กิโลกรัม
เด็กทารกที่ อายุต่ำกว่า 4 เดือน ควรได้รับ น้ำนมแม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งธรรมชาติได้ปรุงแต่งให้สะอาด เหมาะสม มีคุณค่าและเพียงพอสำหรับเด็กทุกคน ไม่มีความจำเป็นต้อง ให้อาหารเสริมอย่างอื่นในระยะนี้ เพราะนมแม่มีสารอาหารครบถ้วนทั้งโปรตีน วิตามิน ไขมัน แร่ธาตุต่างๆ นอกจากนี้ยังมีโคลอสตรัม หรือหัวน้ำนมในช่วงแรกหลังคลอด ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน โรคให้ทารกได้อย่างดีและยังช่วยระบาย "ขี้เทา" ซึ่งค้างอยู่ในลำไส้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง มีฮอร์โมนและ สารกระตุ้นการเติบโตของสมองและอวัยวะอื่นๆ ทำให้ร่างกายและสมองของลูกพัฒนาอย่างสมบูรณ์ขึ้นและ มีผลต่อการพัฒนาระดับสติปัญญา การให้อาหารอื่นนอกจากนมแม่ก่อนลูกอายุได้ 4 เดือนนั้น จะมีผลเสีย ต่อทารกมากมาย เช่นทำให้ทารกท้องอืด เนื่องจากกระเพาะยังไม่พร้อมที่จะรับอาหารอื่น ที่สำคัญทำให้ ทารกอิ่มจนกินนมแม่ได้น้อยกว่าปกติ เป็นผลทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารน้อยกว่าที่ควร
ในระยะที่ลูกมีอายุ ตั้งแต่ 3-4 เดือน ขึ้นไป การทำงานของระบบทางเดินอาหารรวมทั้งน้ำย่อยต่างๆ จะพัฒนามากขึ้นตามอายุ เพื่อให้สามารถ ย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรท โปรตีน ไขมัน และสามารถนำสารอาหารเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ใน ร่างกายให้ได้มากที่สุด
อาหารของทารก วัย 4 เดือนขึ้นไป คือ นมแม่ ข้าวบดไข่แดงต้มสุก ผสมน้ำแกงจืด วันละ 1 ครั้ง แล้วกินนมแม่ตามอีกจนอิ่ม
อาหารของทารก วัย 5 เดือน คือนมแม่ เพิ่มข้าวบดเนื้อปลาสุกสลับกับไข่แดงต้มสุก ผสมน้ำแกงจืดวันละ 1 ครั้ง แล้วกินนมแม่ตามจนอิ่ม
อายุครบ 6 เดือน กินนมแม่ ข้าวบดเนื้อปลาสุกหรือไข่แดงต้มสุก ผสมน้ำแกงจืด โดยเพิ่มผักสุกบดด้วยทุกครั้งเป็นอาหาร แทนนมแม่ 1 มื้อ มีผลไม้สุกนิ่มๆ เช่น มะละกอสุก เป็นอาหารว่าง 1 มื้อ
เมื่ออายุ ครบ 7 เดือน นอกจากินนมแม่แล้ว ต้องเพิ่มเนื้อสัตว์สุกบดชนิดอื่นๆ เช่น ไก่ หมู่ และตับสัตว์สุกบด หรือทั้งไข่แดง และไข่ขาวต้มสุกบดในข้าวและผักบดสลับกับอาหารที่เคยให้เมื่ออายุครบ 6 เดือน มีผลไม้ เป็นอาหารว่าง 1 มื้อ
อายุ 8-9 เดือน ก็กินอาหารเช่นเดียวกับเด็กอายุครบ 7 เดือน แต่บดให้หยาบและเพิ่มปริมาณมากขึ้นเป็นอาหารหลัก แทนนมแม่ได้ 2 มื้อมีผลไม้เป็นอาหารว่าง 1 มื้อ
อายุครบ 10-12 เดือน กินอาหารเช่นเดียวกับเด็กอายุ 8-9 เดือน แต่เพิ่มปริมาณให้มากขึ้นเป็นอาหารหลักแทนนมแม่ได้ 3 มื้อมีผลไม้เป็นอาหารว่าง 1 มื้อ
ในระยะที่ทารกได้รับอาหารเพิ่มเติบตามวัย และค่อยๆ กินอาหารทดแทนนมแม่ไปทีละมื้อนั้นมีความ สำคัญมาก เพราะลูกอาจจะยังไม่คุ้นกับอาหารใหม่ จึงได้เริ่มให้ตั้งแต่อายุ ครบ 4 เดือนขึ้นไป เมื่ออายุ 6 เดือน จะได้กินแทนนมแม่ได้ 1 มื้อ เต็มที่ ในระยะ 4-5 เดือนอาจกินได้ไม่เต็มที่ จึง ได้แนะนำให้กินนมแม่ต่อจนอิ่ม ช่วงระยะ 6 เดือน 1 ปี สมัยก่อนเรียกว่าเป็นระยะหย่านม ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าให้อดนมแต่ความจริงแล้ว เป็นแต่เพียงเปลี่ยนให้กินนมเป็นอาหารเสริม แทนที่จะเป็นอาหารหลัก แม่จึงควรเอาใจใส่ในการให้อาหารทารกตามวัยในระยะนี้ให้มาก