ฟองเต้าหู้
ฟองเต้าหู้ คือฝ้าหรือเยื่อที่ได้มาจากการต้มน้ำนมถั่วเหลืองให้มีความร้อนและความเข้มข้นในระดับที่เหมาะสม ทำให้ไขมันและโปรตีนของถั่วเหลืองจับตัวกันเป็นฝ้า และสะสมหนาขึ้นจนเป็นแผ่นฟิล์มบางๆที่ผิวหน้าของของเหลว จากนั้นจึงใช้ไม้ยาวตักแผ่นฟิล์ม ซึ่งเรียกว่า "ฟองเต้าหู้สด" (หรือเปียก) ขึ้นมา สามารถนำไปปรุงอาหารได้ทันทีหรืออาจนำแผ่นฟิล์มที่ได้มาตากหรืออบจนแห้ง ก็จะได้แผ่นฟองเต้าหู้ที่สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นเดือน
ผู้ที่คิดค้นการทำแผ่นฟองเต้าหู้และนำมาใช้ทำอาหารเป็นพวกแรกคือ พระสงฆ์ในศาสนาพุทธในประเทศจีน ซึ่งโดยปกติจะฉันแต่อาหารมังสวิรัติ แต่เพื่อให้อาหารประเภทนี้มีความน่ากินมากยิ่งขึ้นสำหรับบุคคลทั่วไปจึงได้คิดนำฟองเต้าหู้มาดัดแปลงทำเป็นเนื้อสัตว์เทียม (Mock Meat) โดยการนำแผ่นฟองเต้าหู้ห่อไส้ซึ่งทำจากฟองเต้าหู้สับหยาบผสมกับเครื่องปรุงรสต่างๆ จากนั้นนำไปนึงจนกระทั่งจับตัวกันเป็นก้อน ทำให้มีลักษณะคล้ายเนื้อสัตว์ ต่อมามีการพัฒนาโดยนำฟองเต้าหู้สับผสมกับเครื่องปรุง แล้วอัดลงในแม่พิมพ์รูปเนื้อสัตว์หรือเครื่องในสัตว์ นำไปนึง เมื่อถอดออกจากพิมพ์ก็จะได้เนื้อสัตว์เทียมและเครื่องในสัตว์เทียมสำหรับนำไปปรุงอาหารต่อไป
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ฟองเต้าหู้มีจำหน่ายและใช้กันมากในประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวันและฮ่องกง สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆคือ แบบสด แบบกึ่งแห้ง และแบบแห้ง โดยรูปแบบและลักษณะของผลิตภัณฑ์ฟองเต้าหู้มีความหลากหลายมากขึ้น กล่าวคือนอกจากจะทำเป็นแผ่นบางๆแล้ว ยังมีชนิดแท่งม้วนรูปตัววี (คล้ายแขนงไผ่) ชนิดแผ่นซ้อนกันหลายๆชั้น ชนิดผูกเป็นปม ชนิดป่นเป็นผง เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปปรุงอาหารชนิดต่างๆ
สำหรับผลิตภัณฑ์ฟองเต้าหู้ที่มีวางจำหน่ายในเมืองไทยมักจะมี 2 ลักษณะคือ แบบที่เป็นแผ่นบาง เรียกว่า "หู่เมาะ" นิยมใช้ห่ออาหาร เช่น แฮ่กึ๊น หอยจ๊อ และแบบเป็นเส้นหนาตากแห้ง เรียกว่า "หู่กี่" ซึ่งนำไปใส่ในแกงจืด ผัดโป๊ยเซียน หรืออบ ทอดกรอบแล้วทำเป็นผัดพริกขิง
รู้เพิ่มเสริมต่อ
เทคนิคการปรุงอาหารจากผลิตภัณฑ์ฟองเต้าหู้แห้ง
- ถ้าเป็นแบบแผ่นบาง ก่อนนำไปห่ออาหารให้พรมน้ำให้นิ่มเสียก่อน (แต่อย่านำไปแช่น้ำ)
- ถ้าเป็นแบบเส้นหนาต้องแช่น้ำให้นิ่มก่อนจึงนำไปปรุงในแกงจืดหรืออาหารประเภทผัดต่อไป
- ถ้าต้องการทอดผลิตภัณฑ์ฟองเต้าหู้แห้งให้กรอบ สามารถทอดในน้ำมันท่วมได้เลย โดยไม่ต้องแช่น้ำให้นิ่มก่อน