วากาชิ (Wagashi) ขนมหวานญี่ป่น
ขนมหวานญี่ปุ่นเรียกรวมกันว่า "วากาชิ" (Wagashi) มีมานานตั้งแต่สมัยนะระหรือประมาณ 1,300 ปีมาแล้ว แต่เฟื่องฟูสุดๆในช่วงเอโดะ (ปี ค.ศ. 1603-1867) โดยเฉพาะในเมืองเกียวโตและโตเกียว แต่ละร้านแข่งกันขายแข่งกันคิดขนมใหม่ๆจนกลายเป็นต้นตำรับของขนมญี่ปุ่น
ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นขนมหวานประจำชาติ แต่ชาวญี่ปุ่นก็ไม่ได้กินวากาชิกันบ่อยๆ ประเภทกินตบท้ายมื้ออาหารแบบบ้านเรานั้นไม่มี เพราะเขานิยมกินผลไม้กันมากกว่า ส่วนวากาชินี้จะกินเป็นของว่างและในโอกาสพิเศษเมื่อมีพิธีการต่างๆเช่น พิธีแต่งงาน หรือพิธีชงชา
แรงบันดาลใจของพ่อครัวแม่ครัวในการสร้างสรรค์ขนมวากาชินั้นก็ได้มาจากธรรมชาติ ต้นไม้ ดอกไม้ การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เช่น ฤดูใบไม้ร่วงจะทำขนมคิคุโกะโระโมะรูปดอกเบญจมาศ ส่วนฤดูหนาวก็ทำยูคิโมจิ หรือโมจิหิมะ เป็นต้น
มาถึงการแบ่งประเภทของวากาชิกันบ้าง ซึ่งก็ไม่ได้แบ่งเป็นหมวดหมู่ชัดเจนเพราะขนมแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ถ้าแยกตามวัตถุดิบและวิธีทำก็พอจะแบ่งแบบกว้างๆได้ตามนี้
โจ นะมะกะชิ (Jyo-Namagashi)
ขนมญี่ปุ่นส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ เป็นแป้งห่อไส้ถั่วแดงบดหรือ "อัน" (An) แป้งที่นำมาห่อหุ้มมีทั้งแป้งท้าวยายม่อม แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า ปั้นเป็นรูปทรงต่างๆทั้งดอกไม้ ผลไม้ พระจันทร์ ซึ่งจะออกแบบให้เข้ากับฤดูกาล ทั้งชื่อขนม ส่วนผสม รูปทรงและสีสัน เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้คนได้รู้ว่าฤดูกาลใหม่กำลังจะมาเยือน ตัวอย่างเช่น ซากุระโมจิ (โมจิสีชมพูห่อด้วยใบซากุระ) ซึ่งจะออกในช่วงฤดูใบไม้ผลิ
ฮิงะชิ (Higashi)
เป็นขนมแบบแห้ง เก็บไว้ได้นาน ทำจากแป้งข้าวเหนียว น้ำตาล และวาซัมบงโตะ (Wasambon-to) น้ำตาลผงที่ทำด้วยกรรมวิธีแบบดั้งเดิมผสมกันแล้วนำมาอัดในพิมพ์ ได้ขนมที่ผิวเป็นแป้งแห้งๆคล้ายขนมโก๋ เสิร์ฟในพิธีชงชา
เซมเบ้ (Sembei)
เป็นข้าวเกรียบสีน้ำตาล เคี้ยวกรุบกรอบ มีหลากรูปร่างหลายขนาด (ใหญ่ที่สุดที่เคยเห็นก็ขนาดเท่าแผ่นเสียง) แต่แบบยอดฮิตคือทรงกลมแบนเหมือนที่รองแก้ว ทำจากข้าวเหนียวนำมาปิ้ง แต่งรสด้วยโชยุและเกลือเป็นหลัก ราดหน้าด้วยงา สาหร่าย พริก เพิ่มกลิ่น เพิ่มรสให้อร่อยกันได้หลายแบบ นอกจากนี้ยังมีเซมเบ้แบบหวานหรือซาราเมะ เซมเบ้ (Sarame Sembei) ทำจากแป้งสาลี น้ำตาลและกลูโคส
โนะนะกะ (Monaka)
คือเวเฟอร์ไส้ถั่วแดง มีทั้งถั่วบดและแบบเต็มเม็ด ประกบด้วยแผ่นแป้งบางกรอบทำจากข้าวเหนียว ทำเป็นรูปวงกลม สี่เหลี่ยมดอกซากุระ และอีกสารพัดรูปแล้วแต่จะสร้างสรรค์ โดดเด่นที่ความกรอบกับความนิ่มผสานกับรสหวานๆมันๆ นอกจากไส้ถั่วแดงแล้วยังมีไส้ชาเขียวและถั่วอื่นๆด้วย
โยคัง (Yokan)
ใช้ส่วนผสมหลักคือวุ้นที่ได้จากสาหร่าย เรียกว่า คันเตน (Kanten) แบ่งได้ 2 แบบใหญ่ๆ คือ มิซุ โยคัง เป็นวุ้นใสๆแช่เย็น กินในฤดร้อนผสมผลไม้ลงไป ได้รสหวานเย็น หอมชื่นใจ อีกชนิดคือ มุชิ โยคัง เป็นวุ้นขุ่นๆ เนื้อนิ่มเหนียว ตัดเป็นชิ้นเหลี่ยมพอคำ ทำจากถั่ว เกาลัด หรือมันที่บดละเอียด แป้งสาลี น้ำตาล และคันเตน
มันจู (Manjyu)
เป็นขนมกลมๆแป้งด้านนอกที่ห่อทำจากแป้งมันเทศ (บางครั้งใช้แป้งโซบะ) ไส้เป็นถั่วบดและมีมันเทศหรือเกาลัดอยู่ตรงกลางไส้อีกที นำไปนึ่ง อบหรือย่าง จึงได้ขนมอร่อยโดยเฉพาะขนมโมมิจิมันจูที่เมืองมิยาจิมาโดดเด่นที่ห่อด้วยใบเมเปิล มีหลายไส้ทั้งถั่วแดงบด คัสตาร์ด ช็อคโกแลต ถือเป็นของเนของดังที่ไม่ว่าใครไปเยือนก็ต้องลองชิม
ดังโกะ (Dango)
มีเป็นสิบสูตร แต่ที่หน้าตาเหมือนลูกชิ้นเสียบไม้ที่เราเคยเห็นกันเรียกว่า คุชิ ดังโกะ ทำจากแป้งโมจิ บางครั้งก็ผสมเต้าหู้ลงไปในแป้งด้วย ปั้นเป็นลูกกลม เสียบไม้แล้วนำไปปิ้ง ได้ลูกชิ้นแป้งนุ่มๆเหนียวๆราดซอสโชยุ ซอสเต้าเจี้ยว หรือเกาลัดบด หรือจะโรยด้วยถั่วบดกับน้ำตาลทรายแดงก็เข้าท่า
ไดฟุกุ (Daifuku)
คนไทยเราชอบเรียกว่าโมจิไส้ถั่วแดง แต่จริงๆเขาเรียกขนมประเภทนี้ว่าไดฟุกุ แป้งด้านนอกทำจากแป้งข้าวเหนียวนึ่งที่นำมาตีจนเหนียว (โมจิ) มีสีขาว เขียวและชมพู ส่วนไส้ก็เป็นถั่วแดง ที่พิเศษก็จะใส่ผลไม้ลงไป เช่น อิจิโกะ ไดฟุกุ (Ichigo Daifuku) เป็นโมจิไส้ลูกสตรอร์เบอร์รี่หอมหวาน อร่อยจับใจ นอกจากนั้นยังมีไส้เมลอนบดและไอศกรีมรสต่างๆด้วย
ไทยะกิ (Tai Yaki)
ขนมหน้าตาน่ารักรูปปลาตัวเท่าผ่ามือ เป็นขนมที่จำลองรูปแบบของปลากะพงแดง เรียกอีกชื่อว่า "แพนเค้กญี่ปุ่น" เนื้อแป้งแน่นและเหนียวนุ่ม นอกจากไส้ถั่วแดงมาตรฐานแล้วก็มีไส้เกาลัด ไส้มันหวานและอีกสารพัดไส้ รูปทรงก็มีสารพัดรูปเช่นกัน ทั้งรูปตุ๊กตา รูปกลมๆ แบนๆ ที่เรียกว่า อิมะกะวะ ยะกิ และที่เรารู้จักกันดีที่สุด โดรายากิ ขนมสุดโปรดของโดราเอมอนที่เป็นรูปฆ้องนั่นเอง
ได้รู้จักวากาชิหลายแบบหลากรสไปแล้ว ถ้าวันไหนเบื่อขนมแบบเดิมๆที่กินอยู่ ลองเปลี่ยนบรรยากาศมากินขนมญี่ปุ่นแกล้มชาเขียว แนะนำให้เลือกชารสเข้มออกขมสักหน่อย จะช่วยตัดความหวานจัดของขนมให้เหลือแค่หวานพอดีๆ...ไม่แน่นะ วากาชิอาจกลายเป็นขนมสุดโปรดของคุณก็ได้