7 วิธีพิชิตปัญหาเรื่องหม่ำของวัยเตาะแตะ
คุณพ่อคุณแม่หลายคนมักจะประสบกับปัญหาการกินของเจ้าตัวเล็ก โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าสู่วัยเตาะแตะซึ่งเด็กเริ่มเปลี่ยนอาหารหลักจากนมเป็นข้าว ตัวอย่างปัญหาการกินที่พบมาก เช่น การกินยาก ไม่ยอมกินข้าว เบื่ออาหาร การกินช้า อมข้าว เป็นต้น ปัญหาการกินที่ยกตัวอย่างเหล่านี้ แม้จะดูเป็นเรื่องที่ไม่หนักหนา แต่ก็สร้างความหนักใจให้คุณพ่อคุณแม่ไม่น้อย และหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที อาจกระทบกับความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างพ่อแม่และลูก หรือเกิดปัญหาพฤติกรรมด้านอารมณ์อื่นๆ ตามมาได้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเด็ก
1. ความต้องการอาหารในแต่ละวัยแตกต่างกันไป ในวัยที่ร่างกายเจริญเติบโตเร็ว เด็กจะต้องการอาหารมาก แต่หลังอายุ 1 ปี ร่างกายเจริญเติบโตช้าลง ประกอบกับเด็กเล็กเริ่มหัดเดิน ทำให้สนใจการกินอาหารน้อยลง
ปัญหาการกินจึงมักเริ่มมีมากขึ้นหลังจากอายุ 1 ปี
2. เด็กแต่ละคนที่โครงร่างต่างกัน เด็กที่มีโครงร่างเล็กย่อมต้องการอาหารน้อยกว่าเด็กที่โครงร่างใหญ่
3. เด็กแต่ละคนมีความชอบและไม่ชอบอาหารต่างกัน และมีความอยากอาหารมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละมื้อแต่ละวันด้วย
4. ประสบการณ์ที่ไม่ดีที่เด็กได้รับจากการกิน เช่น ถูกลงโทษเกี่ยวกับการกินบ่อยๆ ทำให้เกิดบรรยากาศที่ตึงเครียดและเกิดเป็นทัศนคติที่ไม่ดีต่อการกิน
5. ความเจ็บป่วย ความไม่สบายใจ เช่น โกรธ เศร้า กังวล รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รัก ก็อาจทำให้เบื่ออาหารได้
พ่อแม่
1. พ่อแม่มักจะเชื่อว่าอาหารคือตัวแทนความรัก ความห่วงใยจากพ่อแม่ ดังนั้น จึงกลายเป็นความคาดหวังว่าเมื่อพ่อแม่เตรียมอาหารไว้ให้ลูกแล้ว ถ้าลูกกินได้หมดพ่อแม่จะรู้สึกภาคภูมิใจ แต่ขณะเดียวกันก็จะกลายเป็นความผิดหวัง หากลูกไม่ยอมกิน
2. ความกลัวว่าลูกจะได้รับอาหารไม่เพียงพอ หรือกลัวว่าลูกจะไม่เจริญเติบโตสมวัย จึงละเลยความพอใจของเด็ก บังคับให้กินสิ่งที่ไม่ชอบและมากเกินความต้องการที่แท้จริง
3. ความกังวัลต่อน้ำหนักตัวของเด็กมากเกินไป และมักจะนำไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น หรือเมื่อถูกทักจากญาติผู้ใหญ่ หรือเพื่อนๆ ว่าลูกผอมเกินไปหรือเปล่า พ่อแม่ก็จะหันมาหลอกล่อ บังคับให้เด็กกินอาหาร
4. พ่อแม่บางคนยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ในเรื่องพัฒนาการของเด็กตามวัย
7 วิธีแก้ปัญหาการกินของเด็ก
1. ตรวจเช็กสุขภาพร่างกาย
ก่อนอื่น เมื่อเด็กมีปัญหาการกิน คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจเช็กในเบื้องต้น โดยการสังเกตเพื่อความแน่ใจ ว่าการที่ลูกไม่ยอมกินส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านต่างๆ เช่น น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน พัฒนาการทางด้านร่างกายถดถอยหรือไม่ ทั้งนี้ หากมีความผิดปกติและเกิดความไม่แน่ใจ จึงควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อประเมินภาวะโภชนาการของเด็ก ตรวจร่างกายว่าไม่มีโรคใดๆ แอบแฝง หรือพัฒนาการเป็นไปตามวัยหรือไม่ หากมีความผิดปกติก็สามารถรักษาได้ทัน แต่หากว่าปกติก็หันกลับมาแก้ไขที่พฤติกรรมของการกินของเด็ก
2. เข้าใจธรรมชาติของเด็ก
พ่อแม่ไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับน้ำหนักตัวของเด็ก เพราะเด็กบางรายอาจมีน้ำหนักน้อย แต่ว่าพัฒนาการด้านอื่นๆ เป็นไปตามวัย เพียงแต่ว่า อาจจะไม่ยอมกินอาหาร ซึ่งพ่อแม่ควรเข้าใจถึงธรรมชาติของเด็กที่ต้องการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองตามวัย และจะยิ่งต่อต้านถ้าถูกบังคับให้กินอาหาร
3. สร้างลักษณะนิสัยการกินที่เหมาะสม
กำหนดเวลารับประทานอาหารแต่ละมื้อให้ชัดเจน ในกรณีที่เด็กใช้เวลานานมากในการกิน ควรกำหนดเวลาในการกินของเด็กไม่เกินครึ่งชั่วโมง ซึ่งพ่อแม่ต้องอดทนและใจแข็ง เมื่อถึงเวลาที่กำหนดต้องเก็บอาหารทันที
จัดที่นั่งให้เหมาะสม โดยให้เด็กนั่งร่วมโต๊ะอาหารกับสมาชิกในครอบครัว โดยไม่มีสิ่งอื่นมาดึงความสนใจจากอาหาร เช่น ทีวี ของเล่น และไม่ควรเดินตาม ป้อนอาหาร หรือต่อรองเรื่องการกินกับเด็กเพราะเด็กจะเอาเรื่องไม่กินมาต่อรอง กับผู้ใหญ่ เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
4. สร้างบรรยากาศการกินที่เป็นสุข
ขณะกินพูดคุยกันถึงเรื่องดีๆ สบายใจ ไม่ควรดุด่า ว่ากล่าว เอาผิด คาดโทษ แต่ควรให้กำลังใจเมื่อเขามีพฤติกรรมการกินที่ดีขึ้น
5. เปิดโอกาส
ในเด็กเล็กๆ ไม่ควรวิตกกับเรื่องระเบียบวินัยในการกินมากเกินไป ควรเปิดโอกาสให้เด็กช่วยตัวเองบ้าง เช่น ให้เขาจับช้อนตักอาหารเข้าปากได้เอง เป็นต้น จากนั้นค่อยๆ ฝึกระเบียบทีหลัง ซึ่งเมื่ออายุ 5 ปีขึ้นไป ก็มักจะมีระเบียบวินัยดีขึ้น
6. การมีส่วนร่วม
ให้เด็กมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหาร สำหรับเด็กเล็กคุณพ่อ คุณแม่ไม่ควรคาดหวังถึงผลสำเร็จของสิ่งที่ให้ทำ แต่ควรมองว่าเป็นการสร้างความคุ้นเคย และทัศนคติที่ดีต่อการกินของเด็กมากกว่า
7. สร้างสรรค์อาหารที่หลากหลาย
ในกรณีที่เด็กเลือกไม่กินอาหารบางชนิดที่มีประโยชน์ อย่างเช่น ผักใบเขียว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบังคับให้เด็กกิน เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังเป็นการสร้างประสบการณ์ที่อาจทำให้เด็กเกลียดอาหารชนิดนั้นไปเลย การแก้ปัญหาคือ ควรดัดแปลงอาหารให้มีรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายแล้วชักชวนให้เด็กลอง สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือการได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่และอาหารแต่ละอย่างควรมีส่วนประกอบของใยอาหารซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์สุขภาพที่ยับยั้งเชื้อโรคบางชนิดและช่วยในการขับถ่ายได้ดี