สอนลูกรักให้กินผัก
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัย 3-4 เดือน และอยากหัดให้ลูกกินผักตั้งแต่ยังเล็ก แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี เรามีคำแนะนำดีๆที่จะช่วยให้ลูกของคุณเป็นนักกินผักตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวน้อยๆ ลองคิดดูว่าการได้เห็นลูกกินผักอย่างเอร็ดอร่อยนั้นจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ชื่นอกชื่นใจขนาดไหน เพราะฉะนั้นก็ต้องมาเริ่มหัดกันตั้งแต่เด็กๆนี่แหละค่ะก่อนอื่นการสอนให้เด็กกินผักนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้มีดังนี้
อายุของเด็ก
เด็กสามารถกินผักได้เมื่ออายุ 3-4 เดือนขึ้นไป โดยคุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กเริ่มกินผักไปพร้อมๆกับอาหารอื่นๆ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับการกินผัก ไม่แปลกกลิ่นแปลกรส
เลือกผักให้เหมาะกับวัยของเด็ก
ครั้งแรกที่ให้เด็กกินผักควรเริ่มจากผักใบเขียว เช่น ใบตำลึง ใบผักบุ้ง ผักโขม ซึ่งมีรสกลางๆ ไม่ขมหรือเฝื่อนเพราะจะทำให้เด็กขยาดการกินผักตั้งแต่ครั้งแรก ส่วนผักจำพวกกะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ควรให้เมื่อเด็กอายุ 9 เดือน หรือ 1 ขวบขึ้นไป เนื่องจากผักประเภทนี้เมื่อกินแล้วอาจเกิดแก๊ซทำให้ท้องอืดหรือเสียดท้องได้ หากเป็นผักประเภทหัวและราก เช่น หัวไช้เท้า หอมใหญ่ แครอท ถั่วงอก รวมถึงบวบและผักอื่นๆ ควรเริ่มให้เมื่อเด็กอายุ 3-4 ขวบ ซึ่งคุ้นเคยกับผักดีแล้ว
ผักที่นำมาประกอบอาหารให้เด็กควรเลือกผักที่สดใหม่ และเป็นผักที่หาได้ในท้องถิ่น และคำนึงถึงความปลอดภัยปลอดสารพิษเป็นหลัก โดยควรล้างผักให้สะอาด
การประกอบอาหาร
ผักที่เตรียมสำหรับเด็กอ่อนควรต้องต้มให้เปื่อยหรือจะใช้วิธีการบดหรือยีให้ละเอียดก็ได้ โดยเลือกผักที่มีกากน้อย เช่น ใบผักโขม มันเทศ ใบผักบุ้ง ใบตำลึง ฟักทอง มันฝรั่ง การทำอาหารให้เด็กเล็กๆเพียงใส่เกลือเล็กน้อย ปิดฝาต้มเคี่ยวให้ผักเปื่อยเป็นใช้ได้ ไม่ควรใส่น้ำมาก และควรนำน้ำต้มผักนั้นมาใช้ด้วย เพราะเกลือแร่และวิตามินจะอยู่ในน้ำต้มผัก จึงไม่ควรทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อเด็กโตขึ้นและเริ่มคุ้นเคยกับรสชาติและกลิ่นของผักแล้ว อาจเปลี่ยนวิธีการหุงต้ม ไปตามวัยของเด็ก เช่น จากผักบดเป็นต้มเปื่อย อบ ผัด นึ่ง ลวก และเมื่อเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป อาจทดลองให้เด็กหัดกินผักสดที่มีรสหวาน เช่น แตงกวา มะเขือเทศ เป็นต้น
ปริมาณผักที่ให้กับเด็ก
ครั้งแรกที่ให้เด็กกินผัก ควรเริ่มจาก 1 ช้อนชา แล้วจึงค่อยๆเพิ่มเป็น 2 ช้อนโต๊ะ แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึง 1/4 ถ้วย และควรให้อาหารผักกับเด็กในมื้อบ่ายหรือมื้อเที่ยงก่อนโดยผสมกับข้าวและเนื้อสัตว์ต่างๆ ต่อมาจึงเพิ่มเป็นมื้อเย็นด้วยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และเมื่อเด็กกินอาหารได้ครบ 3 มื้อ ก็ควรจัดตารางอาหารเป็น มื้อเช้าเป็นน้ำผลไม้ ผลไม้สด ส่วนมื้อกลางวันและมื้อเย็นควรจะให้ทั้งผักใบเขียวและผักสีเหลือง
ทำอย่างไรเมื่อเด็กไม่ยอมกินผัก
ปัญหาหนึ่งของเด็กที่ไม่ยอมกินผักนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่คุณแม่ไม่หัดให้กินผัก และอีกส่วนหนึ่งจากการที่คุณแม่ไม่ค่อย (หรือไม่เคย) ให้เด็กกินผักต้มเปล่าๆเป็นกับข้าว แต่ใส่ผักผสมลงในข้าวตุ๋นตลอดมา ทำให้เด็กไม่คุ้นเคยกับรสชาติของผักล้วนๆ เมื่อคุณแม่ป้อนผักจึงเอาลิ้นดุนออกมาหมด เพราะฉะนั้นคุณแม่อาจใช้วิธีหั่นผักละเอียดๆแล้วใส่ปนลงไปในอาหารอื่นๆด้วย เช่น ไข่เจียวใส่ผัก หรือผสมลงในหมูสับ ทำหมูทอดใส่ผัก เป็นต้น
การสร้างความคุ้นเคยให้เด็กกินผัก อาจเริ่มต้นด้วยน้ำซุปใสๆแล้วเพิ่มเนื้อผักนุ่มๆหวานๆลงไป เช่น ผักกาดขาว ตำลึง ฟัก ฯลฯ หรืออาจทำผักชุบแป้งทอดให้เด็กๆกินเล่น หรือให้กินขนมที่ทำจากผัก เช่น กล้วยบวดชี ขนมฟักทอง หรือการผัดผักหั่นชิ้นเล็กกับน้ำมันหอยให้เด็กๆกินแกล้มกับของชอบ ก็จะช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับการกินผักได้อีกทางหนึ่ง พอเด็กเริ่มกินผักได้จึงเริ่มขยับไปเป็นผักสดต่อไป
คุณแม่อาจใช้วิธีให้ผลไม้แทนไปพลางๆก่อน เมื่อโตขึ้นจึงเริ่มให้ลองกินใหม่ หรือจัดอาหารผักไว้บนโต๊ะอาหารบ่อยๆ แล้วชักชวนให้เด็กลองทีละน้อยโดยไม่บังคับ สำหรับเด็กแล้ว ใช้ลูกยุลูกยอจะได้ผลกว่า
การกินผักนอกจากจะทำให้เด็กได้วิตามินและเกลือแร่ที่มีประโยชน์จากอาหารผักอย่างเต็มที่แล้ว ยังพบว่า ผู้ใหญ่ที่มีรูปร่างสวยงาม บุคลิกดี ผิวพรรณดี สุขภาพแจ่มใสไม่แก่ก่อนวัย ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากนิสัยการกินที่ดี ชอบกินผักผลไม้มาตั้งแต่ยังเด็กนั่นเอง ดังนั้น บ่มเพาะนิสัยการกินผักให้เด็กเสียตั้งแต่วันนี้ ความหวังที่จะให้ลูกรักมีสุขภาพแข็งแรงและผิวพรรณที่ดี อารมณ์สดชื่นแจ่มใส ก็ยังไม่สายเกินไป