ขมิ้นชัน
ขมิ้นมีหลายชนิด แต่ที่นิยมนำมาใช้มี 2 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชันและขมิ้นอ้อย ขมิ้นที่ใช้การปรุงอาหารคือขมิ้นอ้อย ส่วนในทางยานิยมใช้ชมิ้นชันชื่อท้องถิ่น ขมิ้นชัน ขมิ้น(ทั่วไป) ขมิ้นแกง ขมิ้นหัว ขมิ้นหยวก(เชียงใหม่) มิ้น ขี้มิ้น(ภาคใต้)
ขมิ้นอ้อย ขมิ้น(ทั่วไป) มิ้น ขี้มิ้น(ภาคใต้) ขมิ้นขิ้น ขมิ้นหัวขึ้น ว่านเหลือง ละเมียด
ลักษณะทางพฤษศาสตร์
ขมิ้นทั้ง 2 ชนิด มีลักษณะลำต้นคล้ายคลึงกันมาก เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดินหรือเหง้า ประกอบด้วยแง่งหลักเรียกว่าแง่งแม่ แขนงที่แตกออกมาจากแง่งแม่ ถ้ามีลักษณะกมเรียกว่าหัว แต่ถ้ามีลักษณะยาวคล้ายนิ้วมือเรียกว่านิ้ว ขมิ้นชันจะมีเหง้าเล็กกว่าขมิ้นอ้อย เนื้อภายในเหง้ามีสีเหลืองจนถึงสีแสด ซึ่งขมิ้นชันจะมีสีเหลืองเข้มกว่าขมิ้นอ้อย มีกลิ่นหอม ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน อยู่รวมกันเป็นกอ ซึ่งขึ้นมาจากเหง้า ใบมีลักษณะเรียวยาวปลายใบแหลม ขมิ้นชันมีใบยาวเรียวแหลมกว่าขมิ้นอ้อย ด้านล่างของใบมีเส้นใบเห็นได้ชัดเจน ออกดอกเป็นช่อ โดยแทงออกมาจากเหง้า บริเวณใจกลางกลุ่มใบ ลักษณะช่อดอกคล้ายทรงกระบอก ประกอบด้วยดอกย่อย ซึ่งดอกย่อยของขมิ้นชันมีสีเหลืองอ่อนถูกหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงหรือกลีบประดับสีเขียวอมชมพู ส่วนดอกย่อยของขมิ้นอ้อยมีสีขาว มีกลีบเลี้ยงสีชมพูอ่อนๆ
สารสำคัญที่พบ
ในเหง้าขมิ้นชันมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งเป็นน้ำมันเหลืองมีเซสควิเทอร์พีนคีโทน โดยมีสารส่วนใหญ่เป็นทูมีโรน นอกจากนี้ยังมีสารเออาร์-เทอร์มีโรน อัลฟ้า-แอทแลนโทน ซิงจิเบอร์รีน บอร์นีออล ส่วนสารสีเหลืองส้มมีชื่อว่า เคอร์คิวมิน ซึ่งมีสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ขมิ้นชันยังประกอบด้วยสารอาหารประเภทโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันและแร่ธาตุ
สรรพคุณ
1. ช่วยป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร เพราะสารเคอร์คิวมินจะกรุต้นการหลั่งมิวซินออกมาเคลือบกระเพาะ โดยต้มผงขมิ้นชันจนได้น้ำข้นๆผสมกับน้ำผึ้งพอประมาณ รับประทานเป็นประจำ นอกจากนี้ยังช่วยรักษาแผลเปื่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้ให้หายเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากมีฤทธิ์ฝาดสมานช่วยห้ามเลือด
2. แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ โดยตำเหง้าขมิ้นชันสดให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำและผสมกับน้ำต้มสุกในอัตราส่วน 1: 2 รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ หลังอาหารและก่อนนอน
3. ช่วยย่อยอาหารและบรรเทาอาการแน่นจุกเสียด เพราะสารเคอร์คิวมินมีฤทธิ์ขับน้ำดี โดยกระตุ้นถุงน้ำดีให้บีบตัวมากขึ้น ซึ่งยังช่วยรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้เช่นกัน
4. น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งช่วยรักษาโรคผิวหนัง เช่น แผลสด แผลถลอก แผลพุพอง ผื่นคัน แมลงกัดต่อย โดยใช้เหง้าขมิ้นชันสดตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำทาบริเวณที่เป็น หรืออาจจะใช้ผงขมิ้นโรยหรือผสมน้ำต้มทาบริเวณที่เป็นแผล
5. รักษาโรคทางเดินหายใจ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ และช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ แก้อาการปวดตามข้อ ปวดเข่า โดยใช้เหง้าขมิ้นชันสดตำให้ละเอียดผสมกับเกลือพอกบริเวณที่ปวด
6. ช่วยระงับกลิ่นตัว โดยใช้ผงขมิ้นทาบริเวณนั้น
7. ช่วยให้ผิวสวยสะอาด โดยใช้ผงขมิ้นถูให้ทั่วตัวหลังอาบน้ำและล้างหน้าแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
8. ใช้เป็นส่วนผสมในยาแก้ปวดท้อง ยาลดกรด ขับลมและยาเจริญอาหาร
วิธีใช้ในการประกอบอาหาร
ใช้แต่งสีอาหารให้เป็นสีเหลือง เช่น ข้าวหมกไก่ แกงกะหรี่ แกงเหลือง ข้าวเหนียว เนย เนยแข็ง ผงมัสตาร์ด ผักดอง ขนมเบื้องญวน เป็นส่วนผสมของผงกะหรี่ ซอส
ข้อสังเกต/ข้อควรระวัง
1. น้ำมันที่สกัดจากเหง้าขมิ้นแห้งใช้เป็นยากำจัดแมลง และฆ่าเชื้อจุลินทรีย์
2. ใช้เป็นสีย้อมผ้าและเครื่องสำอาง
3. ไม่ควรรับประทานขมิ้นเป็นระยะเวลานานๆอาจทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด
4. สตรีมีครรภ์อ่อนๆไม่ควรรับประทานขมิ้นในปริมาณมาก เพราะทำให้แท้งได้
5. หากรับประทานขมิ้นแล้วมีอาการแพ้ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดหัว ควรหยุดรับประทานทันที
วิธีปลูก
ขยายพันธ์โดยการใช้หัวที่มีลักษณะกลมหรือแง่งที่มีลักษณะยาวคล้ายนิ้วมือ ก่อนปลูกควรนำหัวหรือแง่งไปเพาะก่อนโดยกองทิ้งไว้ในที่ร่มชื้นเป็นเวลา 30 วัน เมื่อแตกหน่อจึงนำไปปลูก โดยฝังให้ลึกประมาณ 7 เซนติเมตร ดินที่ใช้ในการปลูกควรเป็นดินร่วนซุยระบายน้ำได้ดี