กะทือ
ชื่อท้องถิ่น กะทือป่า กะแวน กะแอน แฮวดำ แสมดำ (ภาคเหนือ) เฮียงแดง (แม่ฮ่องสอน)ลักษณะทางพฤษศาสตร์
เป็นพืชล้มลุกมีลักษณะลำต้นและใบเช่นเดียวกับข่าแต่ลำต้นสูงกว่า มีหัวหรือเหง้าใต้ดิน ซึ่งมีขนาดใหญ่ เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อภายในมีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมฉุน ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะใบคล้ายรูปหอกขอบขนาน ท้องใบมีขนนุ่ม ดอกเป็นช่อก้านยาวแข็งแทงออกมาจากเหง้าโดยตรงและชูขึ้นนเหนือพื้นดิน
สารสำคัญที่พบ
ในเหง้ามีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วยสารเมททิล-จินเจอรอล (Methyl-gingerol) ซิเนอโรล (Zinerone) ซีรัมโบน (Zerumbone) ซีรัมโบนออกไซด์ (Zerumbone oxide)
สรรพคุณ
ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บิด ปวดมวนแน่นท้อง จุกเสียด บำรุงน้ำนม บำรุงธาตุ รักษาโรคเบื่ออาหารโดยนำเหง้าสดย่างไฟให้สุก ตำผสมกับน้ำปูนใส คั้นเอาแต่น้ำดื่ม หรือนำเหง้าสดหมกไฟรับประทานเมื่อมีอาการ
วิธีใช้ในการประกอบอาหาร
เหง้าสดใส่ในเครื่องแกงเพื่อดับกลิ่นคาวปลา หน่ออ่อน เนื้ออ่อนใน ลำต้น (ลอกกาบออก) และช่อดอกอ่อน นำมาใส่ในแกงเผ็ด แกงไตปลา ผัดหรือต้มจิ้มน้ำพริก ซึ่งเนื้อในลำต้นมีรสขมเฝื่อนเล็กน้อย ก่อนที่จะนำไปประกอบอาหาร จึงควรหั่นและคลุกเคล้ากับน้ำเกลือเสียก่อน
ข้อสังเกต/ข้อควรระวัง
1. ไม่ควรรับประทานกะทือในปริมาณมาก เพราะจะทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้
2. กะทือและขิงมีสรรพคุณคล้ายกัน จึงสามารถใช้แทนกันได้
วิธีปลูก
ปลูกโดยใช้เหง้า โดยแยกเหง้าออกจากกอเดิม ตัดใบและลำต้นออกปลูกในดินร่วนซุยที่มีการระบายน้ำดีและมีความชื้นสูง