ชื่อท้องถิ่น กระวานดำ กระวานแดง กระวานขาว (ภาคกลาง, ภาคตะวันอก) กระวานจันทน์ กระวานโพธิสัตว์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กระวานเป็นพืชล้มลุกมีเหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดินใบเป็นมัน โคนใบมน ปลายใบเรียวแหลมออกสลับกันที่โคนต้น ก้านใบเป็นกาบติดต้น ออกดอกเป็นช่อเหนือพื้นดินเล็กน้อย กลีบดอกสีเหลือง ซึ่งเจริญเติบโตเป็นผลมีลักษณะกลมรี สีขาวนวล ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก ทั้งผลและเมล็ดมีกลิ่นหอมฉุนคล้ายการบูรและพิมเสน มีรสเผ็ด
สารสำคัญที่พบ
ผลกระวานให้น้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วยการบูร (Camphor) และพิมเสน (Borneol) อัลฟ่า-ไพนีน (Pinene) ไลโมนีน (Limonene) เมอร์ซีน (Myrcene) ไลนาลูออล (Linalool) แป้ง และแคลเซียม ออกซาเลท ฯลฯ
สรรพคุณ
1. ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร ขับเสมหะ รักษาโรคท้องเดิน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด โดยนำผลกระวานแก่จัดไปตากแห้ง บดให้ละเอียดจนเป็นผง ชงกับน้ำอุ่นรับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนชา
2. ใช้เป็นส่วนผสมในยาถ่ายเพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้องของยาถ่าย
3. น้ำมันกระวานมีฤทธิ์ยับยังการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและช่วยรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้
วิธีใช้ในการประกอบอาหาร
นำผลกระวานที่แก่จัดไปตากแห้ง เพื่อใช้เป็นเครื่องเทศในน้ำพริกแกงเผ็ด มัสมั่น แกงกะหรี่ ฯลฯ ใช้แต่งกลิ่นและสีของอาหารหลายชนิด เช่น เหล้า ขนมปัง เค้ก คุ้กกี้ ตับบด ไส้กรอก แฮม อาหารหมักดองและผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ผลอ่อนและหน่ออ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด
วิธีปลูก
สามารถปลูกได้ 2 วิธี คือ เพาะเมล็ดและแยกหน่อ การปลูกโดยใช้เมล็ดควรปลูกในดินร่วนปนทราย อยู่ในบริเวณที่ร่มและมีความชุ่มชื้น ส่วนการปลูกโดยใช้หน่อ ควรตัดแยกหน่อจากต้นแม่ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 2 ปี แล้วนำไปเพาะชำในที่ที่มีความชื้อสม่ำเสมอ เมื่อแข็งแรงจึงนำไปปลูกโดยใส่ปุ๋ยคอกคลุกเคล้าลงในหลุมก่อน