กระชาย
ชื่อท้องถิ่น กะแอน ระแอน (ภาคเหนือ) ขิงทราย (มหาสารคาม) ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ)
ลักษณะทางพฤษศาสตร์
กระชายเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดิน ซึ่งมีลักษณะเรียว ยาวอวบน้ำ ตรงกลางเหง้าจะพองคล้ายกระสวย ออกเกาะกลุ่มกันเป็นกระจุก มีสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมส้ม เนื้อข้างในเป็นสีเหลืองมีกลิ่นหอม ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน สีค่อนข้างแดง ใบมีขนาดยาวรีรูปไข่ ปลายใบแหลมมีขนาดใหญ่สีเขียวอ่อน โคนใบเป็นกาบหุ้มซ้อนกัน ออกดอกเป็นช่อที่ยอด ดอกมีสีขาวหรือสีขาวปนชมพู ผลของกระชายเป็นผลแห้ง
สารสำคัญที่พบ
รากและเหง้ากระชายมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบด้วยสารไพนีน แคมฟีน เมอร์ซีน ไลโมนีน บอร์นีออลและการบูร
สรรพคุณ
กระชายมีรสเผ็ดร้อน สารสำคัญในรากและเหง้ากระชายมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยเจริญอาหารและแก้โรคในช่องปาก
1. แก้บิด ท้องร่วง ท้องเสีย นำรากกระชายย่างไฟ ตำให้ละเอียด ผสมน้ำปูนใสคั้นเอาแต่น้ำดื่ม
2. รักษาโรคริดสีดวงทวาร ต้มกระชายพร้อมมะขามเปียก เติมเกลือแกงเล็กน้อย รับประทานก่อนนอนทุกวัน
3. ช่วยบำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ ตำรากกระชาย 1 กำมือให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ผสมกับน้ำผึ้ง รับประทานก่อนอาหารเย็น
4. ช่วยบำรุงหัวใจ กระตุ้นให้หัวใจเต้นสม่ำเสมอ นำกระชายแห้งบดให้เป็นผงละลายกับน้ำร้อน
5. นำรากกระชาย ตะไคร้ หอมแดง ข่า ใบสะเดาแก่ ตำผสมกัน ใช้ฉีดบริเวณที่มีแมลงรบกวน
วิธีใช้ในการประกอบอาหาร
ส่วนที่ใช้ในการประกอบอาหารก็คือ เหง้าและราก รากกระชายเป็นส่วนผสมของเครื่องแกงขนมจีนน้ำยา และเป็นส่วนประกอบของอาหารอีกหลายชนิดเพื่อดับกลิ่นคาวเนื้อและปลา เช่น ผัดเผ็ดปลาดุก แกงเผ็ดเนื้อ แกงป่า หลนปลาร้า ฯลฯ
วิธีปลูก
กระชายชอบอากาศร้อนชื้นและขึ้นได้ดีในดินปนทราย วิธีการปลูกคือใช้เหง้า ตัดรากทิ้งไปบ้างให้เหลือไว้ 2 ราก และปลูกให้ลึกประมาณ 15 ซม. กลบด้วยปุ๋ยคอกและคลุมด้วยฟางแห้ง รดน้ำให้ชุ่ม