คำฝอย
ชื่อท้องถิ่น คำ(ทั่วไป) ดอกคำ คำยอง คำยุ่ง คำหยุม (ภาคเหนือ)ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นพืชล้มลุก มีลักษณะเป็นพุ่ม แตกกิ่งก้านสาขามากมาย ลำต้นเป็นสัน ผิวเรียบแข็ง โคนลำต้นมีขนาดใหญ่ แต่ปลายกิ่งเรียวเล็ก ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ไม่มีก้านใบ ลักษณะใบคล้ายรูปไข่หรือใบหอกเป็นรูปขอบขนาน ขอบใบหยักเป็นซี่คล้ายฟันเลื่อย ปลายเป็นหนามแหลม ใบเป็นมันหนาสีเขียวเข้ม ออกดอกเป็นช่อ บริเวณปลายกิ่ง ประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ลักษณะดอกคล้ายดอกบานชื่น กลีบดอกมีสีเหลืองเข้ม และจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดง มีกลีบเลี้ยงหรือกลีบประดับเรียงตัวกันเป็นชั้นๆรองรับดอก บริเวณปลายกลีบเลี้ยงมีหนามแหลมคม ลักษณะผลคล้ายรูปไข่มีสีขาว เมล็ดมีลักษณะยาวรี เปลือกแข็ง สีขาว เมื่อผลแก่แห้ง เมล็ดจะไม่แตกกระจาย
สารสำคัญที่พบ
กลีบดอกคำฝอยประกอบด้วยสารสำคัญคือ แซฟฟลาวเวอร์ เยลโลว์ ซึ่งเป็นสารสีเหลือง ส่วนสารสีแดงคือ คาร์ทามิน ในเมล็ดมีน้ำมันซึ่งประกอบด้วยกรดไขมันที่สำคัญคือ การดไลโนเลอิค ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว และมีในปริมาณสูง นอกจากนี้ยังมีกรดปาล์มมิติค กรดเมอริสติค
สรรพคุณ
1. ช่วยบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับเหงื่อ ลดไขมันในเส้นเลือด โดยนำกลีบดอกคำฝอย ชงกับน้ำร้อน ดื่มเป็นน้ำชาหรือใช้ดื่มแทนน้ำ
2. เมล็ดคำฝอยช่วยลดปริมาณไขมันในเส้นเลือด (คอเลสเตอรอล) ป้องกันการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด และลดน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังช่วยขับเสมหะ ขับประจำเดือน และใช้เป็นยาถ่าย เพราะมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน
3. บรรเทาอาการปวดมดลูกหลังการคลอด โดยตำเมล็ดคำฝอยให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณหัวหน่าว
4. น้ำมันจากเมล็ดใช้ทารักษาโรคผิวหนังได้ โรคไขข้ออักเสบและแก้อาการบวม ฟกช้ำดำเขียว
5. ใช้ต้มกับน้ำอาบเมื่อออกหัด
วิธีใช้ในการประกอบอาหาร
กลีบดอกใช้แต่งสีอาหารให้มีสีเหลือง เช่น ข้าวหมกไก่ ส่วนน้ำมันคำฝอยใช้ทำเนยเทียม
ข้อสังเกต/ข้อควรระวัง
1. สีส้มอมแดงที่ได้จากกลีบดอกคำฝอยนิยมนำมาแต่งสีเครื่องสำอางและใช้ย้อมผ้าไหม ผ้าฝ้าย แต่สีซีดง่ายไม่คงทน
2. น้ำมันจากเมล็ดที่สกัดโดยผ่านความร้อน ใช้ผสมสีทาบ้าน น้ำมันชักเงา น้ำมันซักแห้ง สบู่ และใช้เคลือบหนังเพื่อไม่ให้เปียกน้ำ ส่วนกากที่เหลือจากการสกัดน้ำมัน ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์และทำปุ๋ย
วิธีปลูก
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ก่อนปลูกให้นำเมล็ดแช่น้ำไว้ประมาณ 2 คืน แล้วจึงหยอดลงหลุม ที่มีความลึกประมาณ 3-5 เซนติเมตร ช่วงการปลูกที่เหมาะสม คือช่วงปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาว หรือประมาณกลางเดือนตุลาคม คำฝอยชอบอากาศหนาวเย็นและไม่ต้องการน้ำมากนัก