28 Jan 2013

เคล็ดลับไหว้เจ้าเสริมมงคลให้มั่งมีรับปีมะเส็ง

ซีพี ต้อนรับเทศกาลตรุษจีน เชิญสองกูรูคนดัง แนะเคล็ดลับไหว้เจ้าเสริมมงคลให้มั่งมีรับปีมะเส็ง

ใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่ของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด มหาชน จัดกิจกรรมต้อนรับตรุษจีนปีมะเส็ง เชิญสองกูรูผู้เชียวชาญ อาจารย์จิตรา ก่อนันทเกียรติ และ อาจารย์วิศิษฎ์ เตชะเกษม มาเผยเคล็ดลับดีๆ ในการไหว้เจ้าเพื่อเปิดรับโชคลาภตลอดปี 2556 แนะนำการเลือกเครื่องเซ่นไหว้ที่มีคุณลักษณะที่ถูกต้องและมีความหมายมงคล การจัดโต๊ะไหว้เทพเจ้าเพื่อขอบคุณและขอพรเพื่อความมั่งคั่งและอยู่เย็นเป็นสุข



อาจารย์จิตรา ก่อนันทเกียรติ
นักสะสมความรู้ด้านขนบธรรมเนียมจีน เปิดเผยว่า “กำเนิดการไหว้ของคนจีนนั้นสืบทอดกันมายาวนานหลายพันปี เดิมทีคือการไหว้เทพเจ้าในฤดูใบไม้ผลิ เพราะในสมัยก่อนตลอด 1 ปี จะมี 4 ฤดูกาล เดือน 1-3 เป็นฤดูใบไม้ผลิ เหมาะแก่การเพาะปลูก เดือน 4-6 เป็นหน้าร้อน เป็นช่วงเก็บเกี่ยวพืชผลและเตรียมตัวกักตุนเสบียงอาหารรับช่วงที่อากาศหนาว เดือน 7-9 เป็นฤดูใบไม้ร่วง ไม่สามารถเพาะปลูกได้เพราะความแห้งแล้ง เดือน 10-12 เป็นช่วงที่อากาศหนาวจัด ต้องนำอาหารที่กักตุนเอาไว้ในช่วงหน้าร้อนมารับประทาน คนจีนจึงต้องสะสมเสบียงอาหารตั้งแต่เดือน 6 ที่อากาศเริ่มหนาวเย็น เมื่อฤดูหนาวผ่านไปในช่วงหลังปีใหม่เข้าสู่ฤดูเพาะปลูก ชาวจีนจึงนิยมการกราบไหว้ขอพรเทพเจ้าเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ต่อมาจึงปรับเป็นการไหว้ตรุษจีน คำว่าตรุษแปลว่าเริ่ม ซึ่งคือวันที่ 1 เดือน 1 นั่นเอง”

ตรุษจีนในปี 2556 นี้ ตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ก่อนวันสิ้นปีชาวไทยเชื้อสายจีนจะทำความสะอาดบ้านเรือน เพื่อต้อนรับโชคดีปีใหม่ที่จะเข้ามาในบ้าน ในวันสิ้นปี (9 กุมภาพันธ์) จะตั้งโต๊ะไหว้เจ้าที่ตั้งแต่เช้าตรู่ ช่วงสายจะเป็นการไหว้บรรพบุรุษ หลังจากนั้นไหว้ดวงวิญญาณที่ไม่มีญาติเพื่อเป็นการทำทาน พอถึงกลางดึกวันสิ้นปีเข้าสู่ตรุษจีนก็จะตั้งโต๊ะไหว้เทพเจ้าตั้งแต่ 5 ทุ่มไปจนถึง 1 นาฬิกาของวันปีใหม่

สำหรับเครื่องเซ่นไหว้ที่เรียกว่า “แซ” จะนิยมกัน 2 แบบ แล้วแต่ความเชื่อและความสะดวกของแต่ละบ้าน ได้แก่ “ซาแซ” ประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ทั้งหมด 3 ชนิด ซึ่งเป็นตัวแทนของการนับถือศาสนาพุทธ เต๋า และขงจื้อ ได้แก่ สัตว์มีปีก (เป็ด ไก่ นกเป็ดน้ำ) สัตว์มีกีบ (แพะ แกะ วัว หมู) และสัตว์มีครีบ (ปลา งู) อีกเครื่องเซ่นแบบหนึ่งคือ “โหงวแซ” จะเป็นเนื้อสัตว์ 5 ชนิด ซึ่งเป็นตัวแทนของธาตุทั้งห้าของคนจีน ประกอบด้วย เป็ด หมายถึงความร่มเย็นเป็นสุข มีคนคุ้มครอง ความรัก การครองคู่ ไก่ หมายถึง ยศฐาบันดาศักดิ์ หมู หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่งร่ำรวย ตับและเครื่องใน หมายถึงความก้าวหน้าเป็นใหญ่เป็นโต ปลา หมายถึงการมีเหลือกินเหลือใช้ ภายหลังได้มีการนำเนื้อสัตว์มาปรุงด้วยเครื่องพะโล้ ซึ่งมีความหมายถึงความมีชื่อเสียง ความหอมหวานในชีวิต การเลือกซื้อเครื่องเซ่นไหว้ประเภทเนื้อสัตว์ตามตำราจะต้องเลือกมีเนื้อแน่นเต็มตัว หนังไม่ลอกร่อน เครื่องในครบตามคุณลักษณะมงคล ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่สามารถหาซื้อได้สะดวกมากขึ้น

นอกจากเนื้อสัตว์ที่เป็นเครื่องเซ่นแล้ว ยังมีอาหารการกินอีกหลายชนิดที่มีความหมายมงคล

- เกี๊ยวห่อไส้ต่างๆ และหอยจ๊อ หมายถึงการห่อความอุดมสมบูรณ์
- กุ้ง มีสีแดงหมายถึงการมีอำนาจวาสนา ความคล่องตัว
- อาหารประเภทเส้น หมายถึงความยืนยาวเหมือนเส้นหมี่



อาหารเจแห้ง 5 อย่าง (โหงวเจ) ประกอบด้วย


- สาหร่าย หมายถึงความมากมี
- ดอกไม้จีน หมายถึงการมีสติปัญญา
- ฟองเต้าหู้ หมายถึงความรุ่งเรืองเฟื่องฟู
- เห็ดหอม หมายถึงความมีชื่อเสียง
- และวุ้นเส้นหมายถึงความยั่งยืน

โดยบนโต๊ะจะต้องมีอาหารประเภทแกง 1 อย่าง เป็นตัวแทนของความราบรื่นคล่องตัว และไม่นิยมไหว้อาหารที่มีรสเผ็ดหรือรสขม



ของหวานและผลไม้มงคลที่
เหมาะสำหรับการเซ่นไหว้ จะนิยมไหว้ธัญพืช 5 ชนิด หรือ ที่เรียกกันว่าขนมจันอับ ได้แก่

- ข้าวพอง ฟักเชื่อม ถั่วตัด งาตัด ลูกกวาดและน้ำตาลกรวด หมายถึงความงอกงามงอกเงย
- ขนมกุ้ยช่ายรูปลูกท้อ หมายถึงการไหว้ด้วยสุดยอดของมงคล
- ขนมเทียน หมายถึงความสว่างไสวในชีวิต
- ขนมเข่งหมายถึงความมั่งมีมากมาย
- ขนมปุยฝ้ายถ้วยฟู หมายถึงความเฟื่องฟูรุ่งเรือง
- ขนมอี๊ หมายถึงความกลมเกลียว



สำหรับผลไม้นิยมผลไม้ 5 อย่าง
(โหงวก้วย) เป็นตัวแทนของธาตุทั้งห้า ประกอบด้วย
- ธาตุดิน (สีเหลือง) ได้แก่ สาลี่ หมายถึงการนำโชคดีเข้ามา
- ธาตุน้ำ (สีดำ) ได้แก่ องุ่น หมายถึงความเฟื่องฟู
- ธาตุไม้ (สีเขียว)ได้แก่ กล้วยดิบสีเขียว หมายถึง ความมากมี ลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
- ธาตุไฟ (สีแดง) ได้แก่ แอปเปิ้ล หมายถึงสันติสุข
- และธาตุทอง (สีทอง)ได้แก่ ส้มสีทองหมายถึงความเป็นมหามงคล

นอกจากนั้นยังมีน้ำชา ที่เป็นของไหว้ที่แสดงความเคารพแบบสูงสุด และเหล้าที่หมายถึงความอบอุ่น สีนำโชคของเทศกาลตรุษจีนคือสีทองและสีแดง สีทองคือความร่ำรวย โชคลาภ สีแดงคือความสุข รื่นเริง การเริ่มต้นใหม่ ผลไม้สีเหลืองทองและสีแดง รวมทั้งการเขียนอักษรจีนเป็นคำมงคลด้วยสีเหล่านี้จึงเป็นที่นิยมในการมอบให้กันเพื่ออวยพรปีใหม่

จะสังเกตุได้ว่าเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ นั้น จะมีทั้งแบบที่สามารถรับประทานได้เลยหลังจากไหว้เสร็จ และแบบที่สามารถเก็บไว้รับประทานในวันหลัง ซึ่งเป็นกุศโลบายของคนจีนในการตุนอาหารสะสมไว้ไม่ให้เสียเปล่า



อาจารย์วิศิษฎ์ เตชะเกษม
สถาปนิกผู้ค้นคว้าศาสตร์วัฒนธรรมตะวันออก มาแนะนำว่า “ในการตั้งโต๊ะจะต้องหันหน้าเครื่องเซ่นไปในทิศที่เทพเจ้าเสด็จมา ในปีมะเส็งนี้เทพเจ้าจะเสด็จทางทิศตะวันตก โดยเฉพาะ เป็ด ไก่ และปลา ให้หันหน้าไปทางเดียวกัน การไหว้ของชาวจีนเป็นการแสดงความกตัญญูต่อสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า ธรรมชาติ บิดามารดา ครอบครัว เพื่อนฝูง เทศกาลตรุษจีนยังเป็นโอกาสอันดีในการทำทาน คนรวยจะทำอาหารปริมาณมากและบริจาคเสื้อผ้าเพื่อเผื่อแผ่คนยากจน ความโชคดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำบุญด้วยสิ่งของปริมาณมากๆ แต่เป็นการทำดีอย่างสม่ำเสมอ ในทุกๆ ปีจะมีเทวดาเสวยอายุ นั่นหมายถึงชีวิตเราเหลือน้อยลง จงหมั่นทำความดี คำว่า “โหงวเฮ้ง” ไม่ได้หมายความถึงลักษณะดี 5 ประการบนใบหน้าที่ช่วยเสริมโชคลาภวาสนา แต่“โหงวเฮ้ง” ยังหมายถึงหลักคุณธรรมความดี 5 ประการที่มีความหมายต่อทั้ง 5 ธาตุที่อยู่รอบตัวเราอีกด้วย ได้แก่ ธาตุดิน – มีความหนักแน่น จริงใจ ซื่อสัตย์ อดทน ธาตุน้ำ – เรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ธาตุไม้ – มีความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ธาตุไฟ – มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกียรติผู้อื่น และธาตุทอง – มีความกตัญญูและกล้าหาญ”.

+