มะแขว่น
มะแขว่นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยพบขึ้นอยู่ตามป่าดิบบนพื้นที่ระดับต่ำไปจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเล 500 เมตร ในต่างประเทศพบที่ อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย
ใบอ่อนกินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกปลาร้า ลาบ ก้อย ผลแห้ง ใช้เป็นเครื่องเทศผสมกับลาบ หลู้ ยำต่าง ๆ และเป็นเครื่องแกงแค ใส่เป็นเครื่องผสมแกงอ่อมไก่ แกงอ่อมเนื้อ ดับกลิ่นคาวทำให้มีกลิ่นหอม และเผ็ดร้อนชาวจีนนิยมใช้ปรุงอาหาร แทนพริกไทยดำเรียกว่า พริกหอม หรือ ชวงเจียว ในประเทศมาเลเซีย อินเดีย และพม่า ใช้เมล็ดแห้งของมะแขว่นเป็นเครื่องเทศปรุงอาหาร ชาวเขาบนดอยสูงของประเทศไทยจะรู้จักมะแขว่นเป็นอย่างดี
ใบนำมาขยี้อุดฟันแก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน เมล็ดกินแก้ลมวิงเวียน บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ถอนพิษฟกบวม แก้หนองใน รากกับเนื้อไม้ต้มน้ำดื่มขับลมในลำไส้ แก้ลมเบื้องบน หน้ามืดตาลาย วิงเวียน และขับระดู
เป็นไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 20 เมตร มีหนามแหลมตามลำต้น กิ่งก้านใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคู่หรือคี่ออกเรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่หรือรูปรี ปลายแหลมมาก โคนแหลมและเบี้ยว ขอบใบหยักมีต่อมกลมขนาดเล็กบริเวณหยัก ยอดอ่อนเป็นสีแดงปนเหลือง ดอกออกเป็นช่อแบบแยกแขนงช่อขนาดใหญ่ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง และ ที่ปลายกิ่ง มีกลีบดอก 4 กลีบ เป็นสีนวล หรือ ขาวอมเขียว มีเกสรตัวผู้ 4 อัน ผลค่อนข้างกลม ผิวขรุขระ ผลแห้งเป็นสีดำคล้ายพริกไทย มีกลิ่นหอมและเผ็ดร้อน ติดผลแก่ช่วงฤดูหนาว ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง.