สมุนไพรพื้นบ้าน
สมุนไพร | สรรพคุณ |
กระชาย | |
สรรพคุณทางยา ใช้ขับลม ช่วยย่อย แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่ แก้อาการปวดมวนในท้อง ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ ในกระชายประกอบด้วย วิตามินเอ วิตามินบี 2 และ แคลเซียม | |
การนำไปใช้ นิยมใส่ในแกงที่ใช้เนื้อสัตว์กลิ่นคาว เช่น ปลา เนื้อวัว หรือใช้เป็นเครื่องปรุงเพิ่มความหอม เช่น ใส่ในผัดเผ็ด แกงป่า ทำเป็นน้ำยาของขนมจีนน้ำยา | |
กระเพรา | |
สรรพคุณทางยา ป้องกันโรคขาดเลือด ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมัน แก้จุกเสียด ในกะเพราประกอบด้วย เบต้า-แคโรทีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก เส้นใยอาหาร และฟอสฟอรัส | |
การนำไปใช้ ใส่ต้มยำโป๊ะแตกเพื่อช่วยดับกลิ่นคาวจากเนื้อสัตว์ทะเล ใส่ผัดกะเพรา ทอดกรอบแนมกับทอดมัน หรือใส่ในส่วนผสมทอดมัน และแกงป่า | |
โหระพา | |
สรรพคุณทางยา ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง ในโหระพาประกอบด้วย วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก เส้นใยอาหาร ฟอสฟอรัส และเบต้า-แคโรทีน | |
การนำไปใช้ นิยมใส่ในแกงกะทิ แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด หรือใส่ในผัดอย่างหอยลายผัดน้ำพริกเผา นอกจากนี้ยังนิยมกินสดกับลาบ ก้อย น้ำตก และใส่เป็นผักต้มในอาหารอีสานอย่างแจ่วฮ้อน ส่วนอาหารเวียดนามนิยมกินสดแนมกับแหนมเนือง หรือใส่เป็นไส้ผักในเปาะเปี๊ยะเวียดนาม และก๋วยเตี๋ยวเวียดนามที่เรียกว่า เฝอ ในก๋วยเตี๋ยวไทยก็นิยมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยวเรือ | |
หอมแดง | |
สรรพคุณทางยา ขับลม ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ขับประจำเดือน แก้ไข้ แก้หวัด ช่วยย่อยอาหาร เจริญอาหาร ในหอมแดงประกอบด้วย เซเลเนียมเป็นเกลือแร่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวประสานการทำงานของเอนไซม์ระหว่างวิตามินดี เอ และซี | |
การนำไปใช้ ใส่ในยำ ลาบ พล่า เป็นส่วนผสมในน้ำพริกแกงต่างๆ หรือซอยบางๆ เจียวให้กรอบโรยหน้าขนมหม้อแกง และใส่ในน้ำปลาหวาน ราดไข่ลูกเขย หรือน้ำปลาหวานกินกับสะเดาลวกและปลากดุกย่าง | |
สะระแหน่ | |
สรรพคุณทางยา น้ำคั้นจากต้นและใบดื่มแก้ปวดมวนในท้อง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม หรือกินสดเพื่อดับกลิ่นปาก ขับเหงื่อ นอกจากนี้ยังช่วยฆ่าเชื้อ ระงับอาการเกร็งของกระเพาะอาหารและลำไส้ ในสะระแหน่ประกอบด้วย วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินซี แคลเซียม และ ธาตุเหล็ก | |
การนำไปใช้ มักกินเป็นผักสดโดยใส่ในยำ ลาบ พล่า น้ำตก | |
พริกไทยอ่อน | |
สรรพคุณทางยา ช่วยย่อยอาหาร ขับลม ขับเหงื่อ ลดความร้อนในร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ | |
การนำไปใช้ มักใส่ในอาหารที่ใช้เนื้อสัตว์กลิ่นคาว ใส่คู่กับกระชาย เช่น แกงป่า ผัดเผ็ด และใส่เป็นเครื่องปรุงน้ำพริก เช่น น้ำพริกพริกไทยอ่อน | |
ข่า | |
สรรพคุณทางยา เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้บิด ท้องอืด โรคหืด ขับเสมหะ และโรคหลอดลมอักเสบ ในข่าประกอบด้วย วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 แคลเซียม เส้นใยอาหาร และฟอสฟอรัส | |
การนำไปใช้ มักใส่ในอาหารประเภทต้ม เช่น ต้มยำ ต้มข่า ต้มแซบ หรือน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว ทั้งก๋วยเตี๋ยวเป็ด ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ใช้เป็นเครื่องปรุงในการต้มพะโล้ขาหมู บ้างก็นำมาโขลกละเอียดใส่ในลาบ เช่น ลาบปลาดุก ลาบหมู คนจีนมักนำข่ามาโขลกละเอียดผสมเต้าเจี้ยวกินกับข้าวต้มปลาและที่ขาดไม่ได้คือเป็นส่วนผสมในน้ำพริกแกงต่างๆ | |
แมงลัก | |
สรรพคุณทางยา เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้ปวดซางในเด็ก แก้ไอ บำรุงน้ำนม แก้โรคผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน และเป็นยาระบาย ในแมงลักประกอบด้วย วิตามินบี 2 วิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก และเส้นใยอาหาร | |
การนำไปใช้ กินเป็นผักสดแนมกับขนมจีน ใส่ในแกงเลียง แกงอีสาน เช่น แกงเห็ด แกงหน่อไม้ | |
ตะไคร้ | |
สรรพคุณทางยา ใช้เป็นยาทาแก้ปวด เช่น โรครูมาติซัม อาการปวดตามบั้นเอว ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะอย่างอ่อน ขับเหงื่อ แก้ตกขาว อาเจียน ลดความดันโลหิต ขับลม แก้ไข้ ปวดท้อง โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่ว และอาการปวดเกร็ง ในตะไคร้ประกอบด้วย วิตามินเอ แคลเซียม ธาตุเหล็ก เส้นใยอาหาร และฟอสฟอรัส | |
การนำไปใช้ ใส่ในอาหารประเภทต้มยำ พล่า เช่น ต้มยำ ต้มแซบ หรือต้มกับน้ำให้มีความหอมเพื่อลวกอาหารทะเล เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ กุ้ง ปลาหมึก นอกจากนี้ยังซอยเฉียงเบาๆ แล้วทอดกรอบคลุกกับน้ำปรุงรสใช้โรยหน้าอาหารประเภทเนื้อปลาทอด เช่น ปลาทอดตะไคร้ ที่ขาดไม่ได้คือใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องปรุงน้ำพริกแกงต่างๆ | |
มะกรูด | |
สรรพคุณทางยา ผสมมะกรูดช่วยขับลม แก้จุกเสียด แก้ลมวิงเวียน น้ำมะกรูดแก้เลือดออกตามไรฟัน ในมะกรูดประกอบด้วย เบต้า-แคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินซี แคลเซียม และโปรตีน | |
การนำไปใช้ ใช้ได้ทั้งผลมะกรูดและใบมะกรูด การใช้ผสมมะกรูดจะปอกเอาแต่ผิวเปลือกใส่เป็นส่วนผสมในน้ำพริกแกงต่างๆ น้ำมะกรูดใช้ปรุงรสเปรี้ยวในแกงเทโพ แกงส้ม เพราะมีกลิ่นหอม รสเปรี้ยวอมหวานกลมกล่อม ถ้าผ่าครึ่งผลตามขวางทั้งเปลือกมักใส่ในแกงเทโพ น้ำพริกน้ำยาของขนมจีน ใบมะกรูด ใช้ใส่ต้มยำ ต้มข่า ต้มแซบ หรือซอยโรยหน้าห่อหมก ฉู่ฉี่ พะแนง และใส่เป็นส่วนผสมทอดมัน | |
กระเทียม | |
สรรพคุณทางยา มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ลดระดับไขมัน คอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ในกระเทียมประกอบด้วย เซเลเนียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ทำหน้าที่เป็นตัวประสานการทำงานของเอนไซม์ระหว่างวิตามินอี เอ และซี | |
การนำไปใช้ ใส่ในผัดต่างๆ เช่น ผัดผักบุ้ง ผัดกะเพรา หรือสับละเอียดแล้วเจียวให้เหลืองใส่ในข้าวต้ม แกงจืด นำไปผสมกากหมูเจียวใส่เป็นเครื่องแต่งกลิ่นในก๋วยเตี๋ยวต่างๆ หรือนำมาโขลกกับรากผักชีและพริกไทยเป็นเครื่องหมักอาหาร เช่น ผสมกับเนื้อหมูบนใส่ในแกงจืด หมักเนื้อไก่ที่จะย่าง และเป็นส่วนผสมในน้ำพริกแกงต่างๆ | |
ขิง | |
สรรพคุณทางยา ช่วยขับลม ขับน้ำดี ลดอาการบีบตัวของลำไส้ แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดท้อง ป้องกันการอักเสบ มีสารต้านการเกิดมะเร็ง ต้านการเกิดปฏิกิริยากับออกซิเจนและอาการจิตซึมเศร้า ในขิงประกอบด้วย แคลเซียม เป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระดูกและฟัน ช่วยในการแข็งตัวของเลือด | |
การนำไปใช้ ขิงมีทั้งขิงอ่อน ขิงแก่ การนำไปใช้ก็ต่างกัน ขิงแก่นิยมใส่ในอาหารเพื่อดับกลิ่นคาวและเพิ่มความหอม เช่น โขลกรวมกับน้ำพริกแกงแล้วนำไปผัดพริกขิงหมูกับถั่วฝักยาว หรือใส่เป็นน้ำต้มขิงกินกับเต้าฮวยและใส่ในน้ำต้มน้ำตาล หรือซอยบางๆ ใส่ในปูอบวุ้นเส้น ส่วน ขิงอ่อน นิยมกินเป็นผัก เช่น ซอยใส่ในไก่ผัดพริก โรยหน้าโจ๊ก ต้มส้มปลา กินแนมกับไส้กรอกอีสาน ถ้ามีมากก็นำมาดองเป็นขิงดองสามรส กินกับเป็ดย่าง ไข่เยี่ยวม้า | |
พริกชี้ฟ้า | |
สรรพคุณทางยา ป้องกันหลอดลมอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร ทำลายเชื้อแบคทีเรีย ลดก๊าซที่เกิดจากการย่อยอาหาร ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อท้องที่เกิดจากอาการท้องอืดเฟ้อ และป้องกันหวัด ในพริกชี้ฟ้า ประกอบด้วย โปรตีน เส้นใยอาหาร วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี แคลเซียม และธาตุเหล็ก | |
การนำไปใช้ พริกชี้ฟ้าแห้งมักใช้พริกสีแดงนำมาตากแห้ง โขลกใส่น้ำพริกแกงต่างๆ นำไปคั่วหรือเผาไฟให้หอมในต้มโคล้ง ต้มยำ พริกชี้ฟ้าสดมีสีเขียว สีแดง สีเหลือง ซึ่งมีเหลืองมีความเผ็ดมากกว่าสีอื่น จึงนิยมมาโขลกกับกระเทียมใส่ในผัดเผ็ด ส่วนสีแดงและสีเขียวนำมาหั่นแฉลบใส่ในแกงเผ็ด แกงเขียวหวาน ผัดพริก หรือหั่นเป็นแว่นใส่ในเครื่องจิ้มประเภทหลนและดองในน้ำส้มสายชูเป็นเครื่องปรุงรสก๋วยเตี๋ยว | |
พริกขี้หนู | |
สรรพคุณทางยา ช่วยย่อย ทำให้เจริญอาหาร ขับลมขับเหงื่อได้ดี ทำให้รูขุมขนสะอาด ผิวพรรณสดใส และมีสารต้านมะเร็ง ในพริกขี้หนูประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน เส้นใยอาหาร แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี และธาตุเหล็ก | |
การนำไปใช้ พริกขี้หนูแห้งเป็นขี้หนูสดสีแดงที่ตากแดดจนแห้ง นำมาคั่วแล้วป่นเป็นพริกป่น หรือทอดเป็นเครื่องแนมขนมจีนน้ำพริก ยำ ลาบ ทางภาคใต้นิยมโขลกเป็นน้ำพริกแกง พริกขี้หนูสดใช้ทั้งสีแดงและสีเขียว ซอยหรือโขลกทำเป็นน้ำยำต่างๆ ใส่ในผัดกะเพรา ให้ความเผ็ดในต้มยำ ต้มแซบ หรือคั่วพอหอมบดผสมกับน้ำส้มสายชูเป็นเครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยวเรือ |
โภชนาการเพื่อสุขภาพดี โดย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข
ที่ปรึกษาและข้อเขียน รศ.ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล