เตยหอม (Pandanus)
ชื่อพื้นเมือง เตยหอม หวานข้าวไหม้ ปาแนะออจิงเตยหอมเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับคนไทย โดยเฉพาะคนไทยสมัยก่อน เพราะเตยหอมนำมาปรุงอาหารได้ทั้งคาวและหวาน มีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ
ลักษณะของเตยหอม
ใบจะยาวเป็นกาบขึ้นมาจากลำต้น ความยาว 1 ฟุตเศษๆ สีเขียวสดใส เตยหอมเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวชอบขึ้นในที่แฉะๆ ขึ้นเป็นกอๆ ลำต้นเป็นข้อ มีรากช่วยค้ำช่วยยึดลำต้น ต้นแก่มีรากอากาศออกจากข้อ ใบเป็นใบเดี่ยว ปลายใบแหลมคล้ายใบหอก ตรงกลางใบเป็นร่อง มีกลิ่นหอมเย็น
การปลูก
เตยหอมจะขึ้นตามชายคลอง ชายน้ำ ขยายพันธุ์โดยการใช้หน่อที่เจริญเติบโตจากตัวแม่ เวลาปลูกควรรดน้ำทุกวัน เมื่อปลูกใหม่ๆควรให้รับแสงรำไร
มีคุณค่าทางสมุนไพร
แก้อ่อนเพลีย ละเหี่ยใจ บำรุงหัวใจ เวลาได้ดื่มน้ำสมุนไพรชนิดนี้ จะมีความรู้สึกชุ่มชื้นขึ้นมา ส่วนที่ใช้เป็นยาได้แก่ ใบ รสหวานเย็นหอม บำรุงหัวใจ ดับพิษไข้ ชูกำลัง โดยใช้ใบเตยสดล้างให้สะอาด นำมาตำหรือปั่นให้ละเอียด เติมน้ำเล็กน้อยคั้นเอาแต่น้ำดื่ม อาจเติมน้ำตาลเล้กน้อยก็ได้ ใบเตยหอมกลั่นด้วยไอน้ำจะมีสารหอมประกอบหลายชนิด ในทางการแพทย์ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
ประโยชน์ทางอาหาร
ส่วนใหญ่จะใช้ใบ ในสมัยก่อนคนไทยหุงข้าวด้วยหม้อดิน นิยมเอาใบเตยใส่ลงไปด้วย โดยนำมาล้างให้สะอาด ตัดเป็นท่อนๆ เพื่อความหอมของข้าวที่หุง รับประทานข้าวสวยร้อนๆ กลิ่นใบเตยทำให้มีความอร่อยมากขึ้น เตยหอมยังเอาไปปรุงรส กลิ่น อาหารประเภทอื่นได้ เช่น ผสมวุ้น ตะโก้ ขนมหวานต่างๆ ข้าวเหนียว น้ำเชื่อม สำหรับห่อเนื้อไก่เพื่ออบ หรือนำมาล้างให้สะอาด หั่นแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง เอาไปคั่วแล้วเก็บใส่ขวดหรือกระป๋องทำเป็นชาใบเตยหอมก็ได้ จะเก็บไว้ได้นานหลายเดือน
ปัจจุบันเตยหอมยังคงเป็นที่รู้จักกันในทุกระดับชนชั้น สามารถนำมาเป็นเครื่องดื่มน้ำใบเตยแทนน้ำเปล่าได้ หรือนำน้ำแข็งใส่ลงไปเวลาดื่มก็อร่อยดี แต่ไม่ใส่น้ำตาลจนหวานมาก ส่วนใหญ่จะนำใบเตยสดมาคั้นน้ำตกแต่งสีและกลิ่นในอาหาร และใช้แทนสีเขียวได้ดี หรือใช้รองก้นหม้อเวลานึ่งข้าวเหนี่ยวก็จะมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน ใบสดของใบเตยนอกจากนำมาเป็นยาและอาหารแล้วยังเป็นส่วนประกอบในการจัดดอกไม้ จัดแจกัน ตกแต่งโต๊ะอาหาร ใช้ดับกลิ่นเหม็นอับในบ้าน ในครัว ในรถ ในโรงรถด้วย โดยการใช้ใบเตยสดและใบเตยตากแห้ง
คุณค่าทางโภชนาการ
ใบเตยหอม 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 35 กิโลแคลอรี
ประกอบด้วย
น้ำ | 85.3 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 4.6 กรัม |
โปรตีน | 1.9 กรัม |
ไขมัน | 0.8 กรัม |
กาก | 5.2 กรัม |
แคลเซียม | 124 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 27 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 0.1 มิลลิกรัม |
เบต้า-แคโรทีน | 2.987 ไมโครกรัม |
วิตามินบี 2 | 0.20 มิลลิกรัม |
ไนอะซีน | 1.2 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 8 มิลลิกรัม |
ส่วนผสมของน้ำเตยหอม
ใบเตยหอมสด | 200 กรัม |
น้ำตาลทรายแดง | 1 ถ้วยตวง |
น้ำเปล่า | 7 ถ้วยตวง |
เกลือป่น | 1 ช้อนชา |
น้ำแข็งก้อนทุบ | 1 แก้ว |
วิธีทำ
1. ล้างใบเตยให้สะอาด หั่นเป็นท่อนๆใส่ลงในหม้อน้ำเปล่าต้มจนเดือด ลดไฟลงเคี่ยวไฟอ่อนๆ จนสีของใบเตยออกสีเขียวอ่อนๆ
2. นำเอาใบเตยออกกรองด้วยผ้าขาวบาง ใส่เกลือป่น น้ำตาลทรายแดง คนให้ละลาย ตั้งไฟอีก 1-2 นาที ก็เป็นอันใช้ได้
หมายเหตุ
น้ำตาลทรายแดงมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าน้ำตาลทรายขาว เวลาดื่มใส่น้ำแข็งทุบลงไปหรือดื่มร้อนๆก็อร่อยดี
ข้อมูลจากนิตยสารแม่บ้าน